ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 10 ช่องทางถอนเงินจาก Upwork

ทำงานมาตั้งนาน ได้เวลาถอนเงินกันซะที ในวันนี้มัฟฟินจะมาบอกช่องทางการถอนเงินออกจาก Upwork พร้อมทั้งเปรียบเทียบช่องทางที่ดีที่สุดให้เพื่อนๆดูค่ะ เอาเป็นว่าใครสะดวกช่องทางไหนก็เลือกช่องทางที่ตัวเองสะดวกก็แล้วกันนะคะ สำหรับใครที่ยังไม่กรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN ก็อย่าลืมไปกรอกกันให้เรียบร้อยก่อน เพราะไม่งั้นจะถอนเงินออกมาไม่ได้ แต่ถ้าใครพร้อมแล้วก็มาดูกันเลย!

5 ช่องทางถอนเงินจาก Upwork

GetPaid-1

1. Direct to local bank

เป็นช่องทางใหม่ที่ Upwork เพิ่งเพิ่มเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับฟรีแลนเซอร์ในประเทศไทย วิธีนี้เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเราโดยตรงโดยใช้ระบบ SWIFT เงินที่เข้าบัญชีเราจะถูกแปลงเป็นเงินบาท ว่ากันว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เร็วที่สุด และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ทำให้เราได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 วันทำการ(หรืออาจเร็วกว่านี้) ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจะไปตามที่ธนาคาร partner ของ Upwork กำหนด

GetPaid-2

คราวนี้มาดูค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมในการถอนบ้างดีกว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2560)

  • ค่าธรรมเนียม Upwork 0.99$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับโอนเงินจากต่างประเทศ 0.25% ของเงินโอน ซึ่งเกือบทุกธนาคารหักขั้นต่ำ 200 แต่ไม่เกิน 500 บาท (มีธนาคารไทยพาณิชย์ที่หักขั้นต่ำ 300 แต่ไม่เกิน 500 บาท)
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าคู่สาย 20 บาทต่อรายการ
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าโอนข้ามเขต (จากส่วนกลางในกทม.ไปยังต่างจังหวัด) บางธนาคารคิดพันละ 1 บาท (เช่น ธนาคารออมสิน หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1000 บาท) บางธนาคารคิดหมื่นละ 10 บาท (เช่น กสิกร หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 750 บาท)

นอกจากนี้ ถ้ารับเงินโอนเกิน 50,000$ ต้องยื่นแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้กับธนาคารด้วย

**หมายเหตุ: สำหรับคนที่ยังไม่ได้เพิ่มวิธีถอนเงินแบบ Direct to local bank ใน account ของตัวเอง สามารถเข้าไปดูอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวันเพื่อการตัดสินใจได้ โดยเข้าไปที่ Settings > Get paid > Add method > Set up > ใส่ SWIFT Code แล้วคลิก Go

ตรงบรรทัด Account Currency จะแสดงอัตราแลกเปลี่ยนของวันนั้นๆอยู่ เราสามารถนำมาคำนวณได้ว่าถ้าใช้การโอนเงินวิธีนี้จะเสียค่าธรรมเนียมมากหรือน้อยกว่าวิธีอื่นเท่าไหร่ แต่โดยปกติแล้วอัตราแลกเปลี่ยนใน Upwork จะไม่ดีเท่ากับของธนาคารค่ะ

2. Paypal

การถอนเงินออกจาก Upwork โดยผ่าน Paypal นั้น เราจะต้องมีบัญชีของ Paypal ที่ใช้งานได้ก่อน ใครที่จะใช้ช่องทางนี้แต่ยังไม่มีบัญชี Paypal ก็ไปสมัครสมาชิกได้ฟรีเลย และอย่าลืมว่าต้องใช้อีเมล์เดียวกันกับที่ใช้สมัคร Upwork และชื่อในบัญชี PayPal จะต้องตรงกับชื่อในบัญชีธนาคารของเราด้วย ส่วนค่าธรรมเนียมในการถอนก็จะมีดังนี้ค่ะ

GetPaid-3
  • ค่าธรรมเนียม Upwork 1$ (จะเพิ่มเป็น $2 ในวันที่ 20 มี.ค. 2560) ใช้เวลาไม่เกิน 24 ชม. เงินก็จะเข้าบัญชี Paypal
  • ค่าธรรมเนียม Paypal ในการแลกเปลี่ยนเงิน (จากเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท) 2.5% ของอัตราแลกเปลี่ยนนอกประเทศ (ปล. ถ้า set สกุลเงินหลักใน Paypal เป็น USD จะไม่ต้องเสียค่าแลกเปลี่ยนขาเข้า แต่จะเสียในตอนขาออกที่โอนเงินจาก Paypal เข้าบัญชีในไทย ในทางกลับกันถ้า set สกุลเงินหลักเป็นเงินบาท เราจะเสียค่าแลกเปลี่ยนเงินทุกครั้งที่มีเงินเข้า paypal)
  • ค่าธรรมเนียม Paypal ในการโอนเงินเข้าบัญชีในประเทศไทย; สำหรับยอดเงินโอนที่ต่ำกว่า 5,000 บาท จะหักค่าธรรมเนียม 50 บาท แต่ถ้าหากยอดเงินโอนเกิน 5,000 จะไม่คิดค่าธรรมเนียม (คนที่อยู่อเมริกา โอนเงินเข้าบัญชีในอเมริกาจะไม่เสียค่าธรรมเนียม) ใช้เวลาในการโอนประมาณ 5-7 วันทำการ เงินจึงจะเข้าบัญชีธนาคารและถอนออกมาใช้ได้จริง

คำแนะนำ : ควรถอนเงินจาก Upwork ขั้นต่ำ $180 (หรือประมาณ 5,400 บาท) เพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 50 บาท ที่ Paypal เรียกเก็บ

3. Payoneer

Payoneer เป็นบัตรเติมเงินรูปแบบหนึ่งที่เราต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรก่อนจึงจะสามารถใช้จ่ายผ่านบัตรได้ วิธีการเติมเงินที่ว่านี้ก็คือการโอนเงินจาก Upwork ในหน่วยดอลล่าร์สหรัฐเข้าไปในบัตรนั่นเอง หลังจากนั้นเราก็จะสามารถนำบัตรนี้ไปรูดซื้อของได้ หรือจะกดเงินสดออกมาใช้ก็ได้เช่นกัน

บัตร Payoneer สามารถใช้ได้กับร้านค้าทุกร้านที่ยอมรับบัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ด ทั้งในร้านค้าออนไลน์และร้านค้าทั่วไป และยังสามารถใช้ถอนเงินสดที่ตู้ ATM ได้ทั่วโลกอีกด้วย(แต่ต้องเป็นตู้ ATM ที่ยอมรับบัตรเดบิต MasterCard เท่านั้น ซึ่งก็มีเกือบทุกตู้ เกือบทุกธนาคารในไทย แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ลอง search ดู location ได้จากเว็บของมาสเตอร์การ์ด) การถอนเงินหรือใช้จ่ายเงินผ่านบัตร จะคิดเป็นหน่วยดอลล่าร์สหรัฐแม้ว่าเราจะถอนหรือใช้จ่ายเป็นเงินไทยก็ตาม การใช้ช่องทางนี้รับเงินจาก Upwork และมีค่าธรรมเนียมดังนี้

GetPaid-4
  • ค่าธรรมเนียม Upwork 2$
  • ค่าธรรมเนียม Payoneer เพื่อโหลดเงินเข้าบัญชี Payoneer แบบทันที 2.5$ แต่ถ้าเลือกโหลดเงินแบบมาตรฐานที่ต้องรอ 2 วัน จะไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • ค่าธรรมเนียม Payoneer 2.5$ ต่อการถอน/เบิกจ่าย 1 ครั้ง ที่ตู้ ATM, ถ้าการถอนถูกปฏิเสธจะลดค่าธรรมเนียมให้ เหลือ 1$ , สอบถามยอดคิด 1$
  • ค่าบริการตู้ ATM ของธนาคารในไทย คิดตามที่ธนาคารกำหนด แต่ละธนาคารจะคิดไม่เท่ากัน ตรงนี้อาจจะต้องสอบถามกับทางธนาคารอีกทีนึงค่ะ
  • อัตราแลกเปลี่ยนคิดตามที่มาสเตอร์การ์ดกำหนด

4. Wire Transfer (USD)


เป็นการโอนเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกโดยใช้ระบบ SWIFT เหมือนข้อแรกเลยค่ะ แต่ต่างกันที่สกุลเงินที่โอนเข้าบัญชีจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ และอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นไปตามที่ธนาคารในไทยกำหนด ถ้าเราใช้ช่องทางนี้ก็จะมีค่าธรรมเนียมดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม Upwork 30$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับโอนเงินจากต่างประเทศ 0.25% ของเงินโอน ซึ่งเกือบทุกธนาคารหักขั้นต่ำ 200 แต่ไม่เกิน 500 บาท (มีธนาคารไทยพาณิชย์ที่หักขั้นต่ำ 300 แต่ไม่เกิน 500 บาท)
  • กรณีที่จะถือครองเงินตราต่างประเทศ บางธนาคารคิดค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าคู่สาย 20 บาทต่อรายการ
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าโอนข้ามเขต (จากส่วนกลางในกทม.ไปยังต่างจังหวัด) บางธนาคารคิดพันละ 1 บาท (เช่น ธนาคารออมสิน หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1000 บาท) บางธนาคารคิดหมื่นละ 10 บาท (เช่น กสิกร หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 750 บาท)

5. Direct to U.S. Bank (USD)/ACH

ฟรีแลนเซอร์หลายคนช่องทางนี้ใช้ในการโอนเงินจาก Upwork เข้าบัญชีในอเมริกาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ สมัยก่อนที่ Upwork ยังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีไทยโดยตรง มัฟฟินก็ใช้ช่องทางนี้โอนเงินเข้าบัญชีในไทยค่ะ วิธีการก็คือโอนเงินจาก Upwork เข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขานิวยอร์ก จากนั้นธนาคารกรุงเทพ นิวยอร์ก จะโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาในไทยให้เองค่ะ เงินที่เข้าบัญชีจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกรุงเทพ คราวนี้มาดูค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียกันเลยดีกว่า

  • ค่าธรรมเนียม Upwork 0$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารกรุงเทพ สาขานิวยอร์ก ตั้งแต่ 0 ถึง 20$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับโอนเงินจากต่างประเทศ 0.25% ของเงินโอน ขั้นต่ำ 200 แต่ไม่เกิน 500 บาท
GetPaid-5

เมื่อเลือกช่องทางถอนเงินที่สะดวกได้แล้ว ต่อไปเราจะตั้งค่าการถอนเงินของเราใน Upwork ค่ะ

5 ขั้นตอนการตั้งค่า เพื่อถอนเงินจาก Upwork

  • 1. ไปที่ Setting
  • 2. คลิกที่ Add a Payment Method
  • 3. เลือกช่องทางการถอนที่สะดวก
  • 4. กรอกข้อมูลที่ระบบต้องการ เช่น ถ้าเลือกแบบ Direct to local bank หรือ Wire Transfer ก็ต้องกรอกข้อมูล SWIFT Code ของธนาคารที่เราจะรับเงินโอน, ถ้าเลือก Payoneer หรือ PayPal ก็ให้กรอก account ของเราไป
  • 5. เลือกกำหนดเวลาในการถอนเงิน คลิก Next

เพื่อนๆ สามารถหา SWIFT Code ของธนาคารได้ในเว็บไซต์ของธนาคาร ในหัวข้อการรับเงินโอนจากต่างประเทศ หรือจะสอบถามกับเจ้าหน้าที่ธนาคารใกล้บ้านโดยตรงเลยก็ได้ค่ะ

เมื่อตั้งค่าเสร็จแล้ว เราต้องรออีก 3 วัน การตั้งค่านี้จึงจะมีผล ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัยค่ะ หลังจากนั้นเราจึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้

สำหรับใครที่เคยตั้งค่าไว้แล้ว แต่อยากจะแก้ไข ก็สามารถตั้งค่าใหม่ได้ง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

  • 1. ไปที่ Setting
  • 2. เลือก Get Paid
  • 3. ตรง Payment Methods เลือก Edit หรือ Add Method

สรุป

คราวนี้มาดูตัวอย่างกันบ้างว่าหากจะถอนเงินจาก Upwork $1000 ต้องถอนช่องทางไหนจึงจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยที่สุด? สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารอยู่ที่ 30 บาท/USD เท่ากันทุกช่องทาง (แต่อย่าลืมว่า paypal คิดค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน 2.5%) และมีบัญชีธนาคารที่เปิดไว้ที่ กทม.

เราจะตัดช่องทางของ Payoneer และ Wire Transfer ออกไป เพราะดูคร่าวๆแล้วก็รู้ว่าค่าธรรมเนียมแพงมาก ดังนั้นเราจึงเหลืออยู่ 4 ช่องทาง ลองมาดูกันว่าช่องทางไหนเสียค่าธรรมเนียมน้อยที่สุด และจะเหลือเงินเท่าไหร่

  • โอนตรงจาก Upwork -> บัญชีธนาคารในไทย:

$1000 - ค่าธรรมเนียม Upwork $0.99 = $999.01 x 30 บาท/ดอลลาร์ = ฿29,970.30 - ค่าธรรมเนียมรับเงินโอนจากต่างประเทศ ฿200 = ฿29,770.30

  • Upwork -> Paypal(แบบตั้งสกุลเงินหลักเป็น USD) -> ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก -> ธ.กรุงเทพในไทย:

$1,000 - ค่าธรรมเนียม Upwork $2 = $998 - ค่าธรรมเนียม ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก $5 = $993 x 30 บาท/ดอลลาร์ = ฿29,790 - ค่าธรรมเนียมรับเงินโอนจากต่างประเทศ ฿200 = ฿29,590

  • Upwork -> Paypal -> บัญชีธนาคารในไทย:

$1,000 - ค่าธรรมเนียม Upwork $2 = $998 x 29.25 บาท/ดอลลาร์ = 29,191.50 ฿

  • Upwork -> ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก -> ธ.กรุงเทพในไทย:
  • $1,000 - ค่าธรรมเนียม ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก $5 = $995 x 30 บาท/ดอลลาร์ = ฿29,850 - ค่าธรรมเนียมรับเงินโอนจากต่างประเทศ ฿200 = ฿29,650

สรุปว่าช่องทางที่เสียค่าธรรมเนียมน้อยที่สุดคือ Direct to Local Bank , Direct to U.S. , และ Paypal ตามลำดับ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างในการคำนวณเท่านั้นนะคะ เพื่อนๆต้องคำนวนกันวันต่อวันอีกทีว่าทางไหนจะได้เงินมากที่สุด เพราะอัตราแลกเปลี่ยนจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน และแต่ละช่องทางก็มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ตายตัวค่ะ บางวันช่องทางแรกอาจจะได้อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่า บางวันช่องทางอื่นอาจจะดีกว่าก็ได้ หรือบางช่องทางยิ่งโอนเยอะยิ่งเสียค่าธรรมเนียมน้อย เป็นต้น และแม้ว่าบางช่องทางจะเสียค่าธรรมเนียมน้อย แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ก็มักจะไม่ดีนัก ทำให้ได้เงินน้อยกว่าช่องทางอื่นๆ โดยปกติแล้วการโอนตรงแบบ Direct to Local Bank มักจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้ได้เงินน้อยกว่าช่องทางอื่นๆค่ะ

หลังจากตั้งค่าว่าเราจะใช้ช่องทางไหนในการโอนเงินจาก Upwork เข้าบัญชีแล้ว เราต้องรออีก 3 วัน จึงจะสามารถถอนเงินออกมาจาก Upwork ได้

ขั้นตอนการถอนเงินจาก Upwork

  • 1.เข้าไปที่ Setting หลังจากนั้นระบบจะให้กรอกรหัสผ่าน และตอบคำถาม security question ที่เราเคยตั้งไว้
  • 2.คลิกที่ Get paid ตรงแถบเมนูด้านซ้ายมือ
  • 3.คลิกที่ปุ่ม Get paid now จากนั้น Upwork ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของเราผ่านช่องทางที่เราตั้งไว้ค่ะ
GetPaid-8

มัฟฟินชั่งใจอยู่พักนึงว่าจะลองโอนแบบ Direct to Local Bank ดีไหม ก็เลยลองคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนในวันนั้นๆดูก่อน จึงพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Upwork ช่างน้อยนิดเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับการโอนเข้าธนาคารกรุงเทพนิวยอร์ก (Direct to U.S. Bank) ถึงแม้อย่างหลังดูเหมือนจะเสียค่าธรรมเนียมมากกว่า แต่เงินที่ได้รับกลับมากกว่าการโอนตรงเสียอีก มัฟฟินจึงยังไม่ใช้แบบ Direct to Local Bank จนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Upwork จะดีกว่าหรือเท่ากับของธนาคารกรุงเทพค่ะ

หวังว่าข้อมูลของมัฟฟินจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆนะคะ ยังไงก็อย่าลืมคำนวณเปรียบเทียบกันก่อนโอนเงินออกมานะคะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 9 กรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN

เมื่อเรามีรายได้เข้ามาจำนวนหนึ่งแล้ว ทาง Upwork จะให้เรากรอกแบบฟอร์มภาษีก่อนที่จะถอนเงินออกมาใช้ค่ะ เราจำเป็นต้องกรอกแบบฟอร์มภาษีนี้นะคะเพราะไม่งั้นจะถอนเงินออกมาใช้ไม่ได้ สำหรับฟรีแลนซ์ชาวไทยเราให้เลือกกรอกแบบฟอร์ม W-8BEN ค่ะ

แบบฟอร์ม W-8BEN คืออะไร

แบบฟอร์ม W-8BEN คือแบบฟอร์มสำหรับยืนยันว่าเราไม่ใช่ชาวอเมริกัน ไม่ได้ทำงานหรือทำธุรกิจในอเมริกา เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีให้อเมริกาแต่เสียในไทยแทน Upwork จะได้ไม่ต้องหักภาษีจากรายได้ของเราค่ะ

หากใครเคยขายภาพบนเว็บ photostock ต่างๆ ก็คงเคยกรอกกันมาบ้างแล้ว และใน Upwork ก็กรอกแบบเดียวกันค่ะ แต่สำหรับใครที่ไม่เคยกรอกก็มาดูไปพร้อมๆกันนะคะ

วิธีเข้าไปกรอกแบบฟอร์ม W-8BEN

ให้คลิกเข้าไปที่ Settings ซึ่งหาดูได้จากมุมขวาบนของหน้าจอตรงที่มีรูปเราอยู่ค่ะ เป็นที่เดียวกันกับตอนที่เราจะ Log out ค่ะ คลิกเข้าไปเลยแล้วจะเจอคำว่า Settings ใครงงก็ดูภาพข้างล่างเลยค่ะ

W-8BEN-upwork-1

ระบบจะมีการถาม password อีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าของบัญชีจริงๆนะ ก่อนจะเข้าไปแก้ไขข้อมูลสำคัญที่อยู่ใน Settings และอาจจะมีคำถามเพื่อความปลอดภัยอีกชั้นนึงให้เราตอบซึ่งเป็นคำถามที่เราเคยตั้งไว้นั่นแหละ

จากนั้นก็มองหาคำว่า Tax Informaion แล้วก็คลิกเข้าไปเลย

W-8BEN-upwork-2

ตัวอย่างการกรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN

ตัวอย่างนี้ใช้ได้กับ website อเมริกันทุกเว็บที่เราไปหารายได้นะคะ มีแนวทางการกรอกเหมือนกันค่ะ มัฟฟินเอาแบบฟอร์มจริงจากกรมสรรพากรของสหรัฐอเมริกามาให้ดู อันนี้เป็น Revision January 2017 นะคะ

W-8BEN-upwork-3

การกรอกแบบฟอร์มนี้จะต้องกรอกเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นนะคะ ห้ามกรอกเป็นภาษาไทย ข้อมูลที่ต้องกรอกมีดังนี้ค่ะ

Part I
  • ข้อ 1 กรอกชื่อจริง นามสกุลจริงเป็นภาษาอังกฤษ
  • ข้อ 2 กรอก Thailand
  • ข้อ 3 กรอกที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน บรรทัดแรกเป็นบ้านเลขที่ หมู่ ซอย ถนน ตำบล ส่วนบรรทัดสองเป็น อำเภอ จังหวัด รหัสไปรษณีย์ และช่อง Country ให้ใส่ Thailand
  • ข้อ 4 กรอกที่อยู่ที่สามารถส่งเอกสารได้ ถ้าเหมือนกันกับข้อ 3 ก็เว้นไว้ ไม่ต้องกรอก
  • ข้อ 5-7 เว้นไว้ ไม่ต้องกรอก
  • ข้อ 8 กรอกวันเดือนปีเกิด ให้กรอกเป็น เดือน-วัน-ปีค.ศ. เช่น ถ้าเกิดวันที่ 1 ธ.ค.2559 ก็กรอกเป็น 12-01-2016
  • W-8BEN-upwork-4
    Part II
  • ข้อ 9 กรอก Thailand
  • ข้อ 10 เว้นไว้ ไม่ต้องกรอก
  • Part III ไม่มีอะไรให้กรอก และข้างล่างสุด พิมพ์ชื่อ-นามสกุลอีกครั้งก็เป็นอันเสร็จ

    จะเห็นว่า Revision นี้จะต่างจาก Revision ก่อนคือไม่มีให้ส่วนที่ต้องติ๊กเลือก เช่น Type of beneficial owner ที่ปกติเราต้อง ติ๊ก Individual แต่ใน Revision นี้ไม่มีค่ะ

    เมื่อกรอกแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว ระบบจะอนุญาตให้ฟรีแลนเซอร์เข้าถึงเงินได้ทันที บทความหน้ามัฟฟินจะมาสอนเกี่ยวกับการถอนเงินและจะบอกด้วยว่าทางไหนดีที่สุด ติดตามอ่าน ตอนที่ 10 ช่องทางถอนเงินจาก Upwork ได้เลยค่ะ

    ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 8 Top Rated Freelancer

    พอทำงานออนไลน์กับ Upwork มาสักพัก เพื่อนๆคงจะสังเกตเห็นคนที่เป็น Top Rated Freelancer อยู่บ้างใช่ไหมคะ เพื่อนๆอาจจะอยากรู้ว่า Top rate คืออะไร ดียังไง วันนี้มัฟฟินจะพาเพื่อนๆมาทำความรู้จักกับเจ้าสิ่งนี้กันค่ะ

    Top Rate คืออะไร?

    Top Rate เป็นเครื่องมือในการคัดฟรีแลนเซอร์ว่าใครทำงานดีและโดดเด่น เมื่อคัดแล้วก็จะเปิดโอกาสให้เติบโตในสายงานของตัวเองได้มากกว่าคนอื่นๆที่ไม่ได้เป็น Top Rate

    เป็น Top Rate แล้วดียังไง?

    ปกติเมื่อ Client โพสท์โปรเจคสักโปรเจคหนึ่งก็มักจะมองหาฟรีแลนเซอร์ที่เป็น Top Rate มากกว่าฟรีแลนเซอร์ทั่วไป ดังนั้นคนที่เป็น Top Rate จึงมักจะมีโอกาสที่จะได้งานมากกว่า

    ข้อดีของการเป็น Top Rated Freelancer มีดังนี้

    • คำเชิญให้เราส่ง proposal โปรเจคต่างๆ ซึ่ง client ที่ส่งคำเชิญมานั้นมีแนวโน้มที่จะพิจารณาเราก่อนคนอื่นๆ นั่นก็แปลว่า เรามีโอกาสได้รับงาน-ได้รับเงินมากกว่าคนอื่น
    • คำแนะนำในการเขียนโปรไฟล์ให้ดีขึ้น เมื่อเขียนโปรไฟล์ได้น่าสนใจมากขึ้น client ที่เข้ามาอ่านก็จะอยากจ้างเรามากขึ้น
    • การช่วยเหลืออย่างดีเยี่ยมทั้งทางโทรศัพท์, แชท และ e-mail เมื่อมีปัญหา
    • สิทธิ์ในการเข้าร่วมในชุมชนคน Top Rate เพื่อให้เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จาก Top Rate คนอื่นๆ
    • ลบ feedback ที่ไม่ดีออกจากโปรไฟล์ได้ 1 job
    • เลือกลบดาวรีวิวที่น้อยหรือ comment ที่ไม่ดีออกไปได้

    จะเป็น Top Rate ได้อย่างไร?

    การจะเป็น Top Rate ได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

    • ทำรายได้อย่างน้อย $1,000 ในหนึ่งปีที่ผ่านมา
    • กรอกโปรไฟล์ครบถ้วน 100%
    • มี Job Success Score 90% ขึ้นไป
    • มี Rising Talent หรือ Job Success Score อย่างน้อย 90% (อย่างน้อย 13 สัปดาห์จาก 16 สัปดาห์)
    • มีความเคลื่อนไหวตลอด 3 เดือนบน Upwork (ส่ง Proposal, ตอบ chat, ทำงาน ฯลฯ)
    top-rated-freelancer-1

    รู้อย่างนี้แล้วเรามาทำตัวเราให้ติด Top Rated Freelancer กันดีกว่า โดยเริ่มจากการกรอก Profile ให้ได้ 100%

    ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าส่วนไหนให้เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่บ้าง

    • ประวัติการศึกษา +10%
    • ประสบการณ์อื่นๆ +5%
    • ประวัติการทำงาน +10% (สูงสุด30%)
    • คะแนนการทดสอบ Skill Test +10% (สูงสุด30%)
    • ใบประกาศต่างๆ +5% (สูงสุด10%)
    • ผลงานต่างๆ +5% (สูงสุด10%)

    คราวนี้มัฟฟินจะสอนกรอกในส่วนของผลงาน (Portfolio) ต่างๆและใบประกาศนียบัตร (Certificate) รวมทั้งบอกวิธีไปทำ Test เพราะในส่วนอื่นๆนั้นเราได้กรอกหมดแล้วตั้งแต่ตอนที่ 2 สร้างโปรไฟล์เบื้องต้น

    การกรอกผลงาน (Portfolio)

    ให้เพื่อนๆไปที่หน้า Profile แล้วเลื่อนลงมาหาหัวข้อ Portfolio จากนั้นคลิกที่หัวข้อดังกล่าว (หรือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆหัวข้อนั้นก็ได้) เพื่อเพิ่มผลงานที่เราเคยทำ

    top-rated-freelancer-2

    จากนั้นจะปรากฏหน้าต่างขึ้นมาให้เรากรอกข้อมูล โดยจะต้องกรอกชื่อโปรเจคที่ทำ, เลือกว่าโปรเจคนี้ทำบน upwork หรือไม่, ข้อมูลคร่าวๆของโปรเจค, เลือกประเภทของโปรเจค, วันที่ทำเสร็จ และเพิ่มรูปภาพ จากนั้นก็คลิกที่ปุ่ม Publish Project (ตัวอย่างดังภาพข้างล่าง) ในส่วน Portfolio นี้เพื่อนๆสามารถเพิ่มกี่โปรเจคก็ได้ตามใจเพื่อนๆเลย ยิ่งเยอะยิ่งดีค่ะ

    top-rated-freelancer-3

    การเพิ่ม Certificate

    ถัดมาจะเป็นส่วนของ Certifications ให้คลิกที่หัวข้อ Certifications (หรือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆหัวข้อนั้นก็ได้)

    top-rated-freelancer-4

    จากนั้นเลือกชื่อใบประกาศนียบัตรที่เคยได้รับ แต่ถ้าไม่มีใน list ให้เลือก other

    top-rated-freelancer-5

    สมมติว่าเลือก other เราจำเป็นต้องกรอกชื่อใบประกาศฯเอง โดยระบุหน่วยงานที่ออกใบประกาศฯนี้ให้เรา คำอธิบายเกี่ยวกับใบประกาศฯ วันเดือนปีที่ได้รับ จากนั้นคลิกปุ่ม Add Certification ก็เป็นอันเสร็จ ถ้าเพื่อนๆมีหลายใบก็สามารถเพิ่มได้อีกโดยทำแบบเดิมคือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆคำว่า Certifications เลือกใบประกาศฯ กรอกรายละเอียด และคลิกปุ่ม Add Certification ค่ะ

    top-rated-freelancer-6

    การทำ Tests

    ถัดมาคือการทำ Tests โดยคลิกที่หัวข้อ Tests เพื่อไปยังหน้า Skill Tests ซึ่งจะมีชุดข้อสอบต่างๆให้เราเลือกทำ มัฟฟินแนะนำให้ทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษก่อน เช่น UK English Basic Skills Test และ U.S. English Basic Skills Test เพราะงานหลายๆโปรเจคมักจะกำหนดคุณสมบัติว่ารับเฉพาะ freelancer ที่ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษของ upwork

    นอกจากนี้เพื่อนๆยังสามารถทำแบบทดสอบที่ตรงกับความสามารถของตัวเองเพิ่มได้ค่ะ

    top-rated-freelancer-7

    แบบทดสอบภาษาอังกฤษจะมีทั้งหมด 40 ข้อ เป็นแบบ multiple choice ใช้เวลาทำ 40 นาทีค่ะ

    top-rated-freelancer-8

    เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราต้องตั้งค่าให้คะแนนของเราแสดงบน Profile โดยคลิกปุ่ม YES ตรงคอลัมน์ Display on profile เมื่อคลิกแล้วปุ่ม YES จะเป็นสีเขียว ตามภาพข้างล่างค่ะ

    top-rated-freelancer-9

    ใครที่ได้คะแนนน้อยก็ไม่ต้องกังวลค่ะ (เราก็ได้น้อยเหมือนกัน ฮ่าๆๆ) เพราะเพื่อนๆสามารถกลับมาทำแบบทดสอบใหม่ได้ในอีก 30-180 วันข้างหน้าขึ้นอยู่กับแบบทดสอบแต่ละแบบค่ะ

    มัฟฟินคงต้องจบบทความนี้ไว้เท่านี้ เพราะต้องรีบไปเขียนเรื่องการกรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN ต่อ อย่าลืมติดตามกันนะคะ