แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สร้างเงินออนไลน์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สร้างเงินออนไลน์ แสดงบทความทั้งหมด

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 10 ช่องทางถอนเงินจาก Upwork

ทำงานมาตั้งนาน ได้เวลาถอนเงินกันซะที ในวันนี้มัฟฟินจะมาบอกช่องทางการถอนเงินออกจาก Upwork พร้อมทั้งเปรียบเทียบช่องทางที่ดีที่สุดให้เพื่อนๆดูค่ะ เอาเป็นว่าใครสะดวกช่องทางไหนก็เลือกช่องทางที่ตัวเองสะดวกก็แล้วกันนะคะ สำหรับใครที่ยังไม่กรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN ก็อย่าลืมไปกรอกกันให้เรียบร้อยก่อน เพราะไม่งั้นจะถอนเงินออกมาไม่ได้ แต่ถ้าใครพร้อมแล้วก็มาดูกันเลย!

5 ช่องทางถอนเงินจาก Upwork

GetPaid-1

1. Direct to local bank

เป็นช่องทางใหม่ที่ Upwork เพิ่งเพิ่มเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับฟรีแลนเซอร์ในประเทศไทย วิธีนี้เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเราโดยตรงโดยใช้ระบบ SWIFT เงินที่เข้าบัญชีเราจะถูกแปลงเป็นเงินบาท ว่ากันว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เร็วที่สุด และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ทำให้เราได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 วันทำการ(หรืออาจเร็วกว่านี้) ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจะไปตามที่ธนาคาร partner ของ Upwork กำหนด

GetPaid-2

คราวนี้มาดูค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมในการถอนบ้างดีกว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2560)

  • ค่าธรรมเนียม Upwork 0.99$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับโอนเงินจากต่างประเทศ 0.25% ของเงินโอน ซึ่งเกือบทุกธนาคารหักขั้นต่ำ 200 แต่ไม่เกิน 500 บาท (มีธนาคารไทยพาณิชย์ที่หักขั้นต่ำ 300 แต่ไม่เกิน 500 บาท)
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าคู่สาย 20 บาทต่อรายการ
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าโอนข้ามเขต (จากส่วนกลางในกทม.ไปยังต่างจังหวัด) บางธนาคารคิดพันละ 1 บาท (เช่น ธนาคารออมสิน หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1000 บาท) บางธนาคารคิดหมื่นละ 10 บาท (เช่น กสิกร หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 750 บาท)

นอกจากนี้ ถ้ารับเงินโอนเกิน 50,000$ ต้องยื่นแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้กับธนาคารด้วย

**หมายเหตุ: สำหรับคนที่ยังไม่ได้เพิ่มวิธีถอนเงินแบบ Direct to local bank ใน account ของตัวเอง สามารถเข้าไปดูอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวันเพื่อการตัดสินใจได้ โดยเข้าไปที่ Settings > Get paid > Add method > Set up > ใส่ SWIFT Code แล้วคลิก Go

ตรงบรรทัด Account Currency จะแสดงอัตราแลกเปลี่ยนของวันนั้นๆอยู่ เราสามารถนำมาคำนวณได้ว่าถ้าใช้การโอนเงินวิธีนี้จะเสียค่าธรรมเนียมมากหรือน้อยกว่าวิธีอื่นเท่าไหร่ แต่โดยปกติแล้วอัตราแลกเปลี่ยนใน Upwork จะไม่ดีเท่ากับของธนาคารค่ะ

2. Paypal

การถอนเงินออกจาก Upwork โดยผ่าน Paypal นั้น เราจะต้องมีบัญชีของ Paypal ที่ใช้งานได้ก่อน ใครที่จะใช้ช่องทางนี้แต่ยังไม่มีบัญชี Paypal ก็ไปสมัครสมาชิกได้ฟรีเลย และอย่าลืมว่าต้องใช้อีเมล์เดียวกันกับที่ใช้สมัคร Upwork และชื่อในบัญชี PayPal จะต้องตรงกับชื่อในบัญชีธนาคารของเราด้วย ส่วนค่าธรรมเนียมในการถอนก็จะมีดังนี้ค่ะ

GetPaid-3
  • ค่าธรรมเนียม Upwork 1$ (จะเพิ่มเป็น $2 ในวันที่ 20 มี.ค. 2560) ใช้เวลาไม่เกิน 24 ชม. เงินก็จะเข้าบัญชี Paypal
  • ค่าธรรมเนียม Paypal ในการแลกเปลี่ยนเงิน (จากเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท) 2.5% ของอัตราแลกเปลี่ยนนอกประเทศ (ปล. ถ้า set สกุลเงินหลักใน Paypal เป็น USD จะไม่ต้องเสียค่าแลกเปลี่ยนขาเข้า แต่จะเสียในตอนขาออกที่โอนเงินจาก Paypal เข้าบัญชีในไทย ในทางกลับกันถ้า set สกุลเงินหลักเป็นเงินบาท เราจะเสียค่าแลกเปลี่ยนเงินทุกครั้งที่มีเงินเข้า paypal)
  • ค่าธรรมเนียม Paypal ในการโอนเงินเข้าบัญชีในประเทศไทย; สำหรับยอดเงินโอนที่ต่ำกว่า 5,000 บาท จะหักค่าธรรมเนียม 50 บาท แต่ถ้าหากยอดเงินโอนเกิน 5,000 จะไม่คิดค่าธรรมเนียม (คนที่อยู่อเมริกา โอนเงินเข้าบัญชีในอเมริกาจะไม่เสียค่าธรรมเนียม) ใช้เวลาในการโอนประมาณ 5-7 วันทำการ เงินจึงจะเข้าบัญชีธนาคารและถอนออกมาใช้ได้จริง

คำแนะนำ : ควรถอนเงินจาก Upwork ขั้นต่ำ $180 (หรือประมาณ 5,400 บาท) เพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 50 บาท ที่ Paypal เรียกเก็บ

3. Payoneer

Payoneer เป็นบัตรเติมเงินรูปแบบหนึ่งที่เราต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรก่อนจึงจะสามารถใช้จ่ายผ่านบัตรได้ วิธีการเติมเงินที่ว่านี้ก็คือการโอนเงินจาก Upwork ในหน่วยดอลล่าร์สหรัฐเข้าไปในบัตรนั่นเอง หลังจากนั้นเราก็จะสามารถนำบัตรนี้ไปรูดซื้อของได้ หรือจะกดเงินสดออกมาใช้ก็ได้เช่นกัน

บัตร Payoneer สามารถใช้ได้กับร้านค้าทุกร้านที่ยอมรับบัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ด ทั้งในร้านค้าออนไลน์และร้านค้าทั่วไป และยังสามารถใช้ถอนเงินสดที่ตู้ ATM ได้ทั่วโลกอีกด้วย(แต่ต้องเป็นตู้ ATM ที่ยอมรับบัตรเดบิต MasterCard เท่านั้น ซึ่งก็มีเกือบทุกตู้ เกือบทุกธนาคารในไทย แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ลอง search ดู location ได้จากเว็บของมาสเตอร์การ์ด) การถอนเงินหรือใช้จ่ายเงินผ่านบัตร จะคิดเป็นหน่วยดอลล่าร์สหรัฐแม้ว่าเราจะถอนหรือใช้จ่ายเป็นเงินไทยก็ตาม การใช้ช่องทางนี้รับเงินจาก Upwork และมีค่าธรรมเนียมดังนี้

GetPaid-4
  • ค่าธรรมเนียม Upwork 2$
  • ค่าธรรมเนียม Payoneer เพื่อโหลดเงินเข้าบัญชี Payoneer แบบทันที 2.5$ แต่ถ้าเลือกโหลดเงินแบบมาตรฐานที่ต้องรอ 2 วัน จะไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • ค่าธรรมเนียม Payoneer 2.5$ ต่อการถอน/เบิกจ่าย 1 ครั้ง ที่ตู้ ATM, ถ้าการถอนถูกปฏิเสธจะลดค่าธรรมเนียมให้ เหลือ 1$ , สอบถามยอดคิด 1$
  • ค่าบริการตู้ ATM ของธนาคารในไทย คิดตามที่ธนาคารกำหนด แต่ละธนาคารจะคิดไม่เท่ากัน ตรงนี้อาจจะต้องสอบถามกับทางธนาคารอีกทีนึงค่ะ
  • อัตราแลกเปลี่ยนคิดตามที่มาสเตอร์การ์ดกำหนด

4. Wire Transfer (USD)


เป็นการโอนเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกโดยใช้ระบบ SWIFT เหมือนข้อแรกเลยค่ะ แต่ต่างกันที่สกุลเงินที่โอนเข้าบัญชีจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ และอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นไปตามที่ธนาคารในไทยกำหนด ถ้าเราใช้ช่องทางนี้ก็จะมีค่าธรรมเนียมดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม Upwork 30$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับโอนเงินจากต่างประเทศ 0.25% ของเงินโอน ซึ่งเกือบทุกธนาคารหักขั้นต่ำ 200 แต่ไม่เกิน 500 บาท (มีธนาคารไทยพาณิชย์ที่หักขั้นต่ำ 300 แต่ไม่เกิน 500 บาท)
  • กรณีที่จะถือครองเงินตราต่างประเทศ บางธนาคารคิดค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าคู่สาย 20 บาทต่อรายการ
  • บัญชีธนาคารสาขาต่างจังหวัด หักค่าโอนข้ามเขต (จากส่วนกลางในกทม.ไปยังต่างจังหวัด) บางธนาคารคิดพันละ 1 บาท (เช่น ธนาคารออมสิน หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1000 บาท) บางธนาคารคิดหมื่นละ 10 บาท (เช่น กสิกร หักขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 750 บาท)

5. Direct to U.S. Bank (USD)/ACH

ฟรีแลนเซอร์หลายคนช่องทางนี้ใช้ในการโอนเงินจาก Upwork เข้าบัญชีในอเมริกาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ สมัยก่อนที่ Upwork ยังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีไทยโดยตรง มัฟฟินก็ใช้ช่องทางนี้โอนเงินเข้าบัญชีในไทยค่ะ วิธีการก็คือโอนเงินจาก Upwork เข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขานิวยอร์ก จากนั้นธนาคารกรุงเทพ นิวยอร์ก จะโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาในไทยให้เองค่ะ เงินที่เข้าบัญชีจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกรุงเทพ คราวนี้มาดูค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียกันเลยดีกว่า

  • ค่าธรรมเนียม Upwork 0$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารกรุงเทพ สาขานิวยอร์ก ตั้งแต่ 0 ถึง 20$
  • ค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับโอนเงินจากต่างประเทศ 0.25% ของเงินโอน ขั้นต่ำ 200 แต่ไม่เกิน 500 บาท
GetPaid-5

เมื่อเลือกช่องทางถอนเงินที่สะดวกได้แล้ว ต่อไปเราจะตั้งค่าการถอนเงินของเราใน Upwork ค่ะ

5 ขั้นตอนการตั้งค่า เพื่อถอนเงินจาก Upwork

  • 1. ไปที่ Setting
  • 2. คลิกที่ Add a Payment Method
  • 3. เลือกช่องทางการถอนที่สะดวก
  • 4. กรอกข้อมูลที่ระบบต้องการ เช่น ถ้าเลือกแบบ Direct to local bank หรือ Wire Transfer ก็ต้องกรอกข้อมูล SWIFT Code ของธนาคารที่เราจะรับเงินโอน, ถ้าเลือก Payoneer หรือ PayPal ก็ให้กรอก account ของเราไป
  • 5. เลือกกำหนดเวลาในการถอนเงิน คลิก Next

เพื่อนๆ สามารถหา SWIFT Code ของธนาคารได้ในเว็บไซต์ของธนาคาร ในหัวข้อการรับเงินโอนจากต่างประเทศ หรือจะสอบถามกับเจ้าหน้าที่ธนาคารใกล้บ้านโดยตรงเลยก็ได้ค่ะ

เมื่อตั้งค่าเสร็จแล้ว เราต้องรออีก 3 วัน การตั้งค่านี้จึงจะมีผล ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัยค่ะ หลังจากนั้นเราจึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้

สำหรับใครที่เคยตั้งค่าไว้แล้ว แต่อยากจะแก้ไข ก็สามารถตั้งค่าใหม่ได้ง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

  • 1. ไปที่ Setting
  • 2. เลือก Get Paid
  • 3. ตรง Payment Methods เลือก Edit หรือ Add Method

สรุป

คราวนี้มาดูตัวอย่างกันบ้างว่าหากจะถอนเงินจาก Upwork $1000 ต้องถอนช่องทางไหนจึงจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยที่สุด? สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารอยู่ที่ 30 บาท/USD เท่ากันทุกช่องทาง (แต่อย่าลืมว่า paypal คิดค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน 2.5%) และมีบัญชีธนาคารที่เปิดไว้ที่ กทม.

เราจะตัดช่องทางของ Payoneer และ Wire Transfer ออกไป เพราะดูคร่าวๆแล้วก็รู้ว่าค่าธรรมเนียมแพงมาก ดังนั้นเราจึงเหลืออยู่ 4 ช่องทาง ลองมาดูกันว่าช่องทางไหนเสียค่าธรรมเนียมน้อยที่สุด และจะเหลือเงินเท่าไหร่

  • โอนตรงจาก Upwork -> บัญชีธนาคารในไทย:

$1000 - ค่าธรรมเนียม Upwork $0.99 = $999.01 x 30 บาท/ดอลลาร์ = ฿29,970.30 - ค่าธรรมเนียมรับเงินโอนจากต่างประเทศ ฿200 = ฿29,770.30

  • Upwork -> Paypal(แบบตั้งสกุลเงินหลักเป็น USD) -> ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก -> ธ.กรุงเทพในไทย:

$1,000 - ค่าธรรมเนียม Upwork $2 = $998 - ค่าธรรมเนียม ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก $5 = $993 x 30 บาท/ดอลลาร์ = ฿29,790 - ค่าธรรมเนียมรับเงินโอนจากต่างประเทศ ฿200 = ฿29,590

  • Upwork -> Paypal -> บัญชีธนาคารในไทย:

$1,000 - ค่าธรรมเนียม Upwork $2 = $998 x 29.25 บาท/ดอลลาร์ = 29,191.50 ฿

  • Upwork -> ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก -> ธ.กรุงเทพในไทย:
  • $1,000 - ค่าธรรมเนียม ธ.กรุงเทพ นิวยอร์ก $5 = $995 x 30 บาท/ดอลลาร์ = ฿29,850 - ค่าธรรมเนียมรับเงินโอนจากต่างประเทศ ฿200 = ฿29,650

สรุปว่าช่องทางที่เสียค่าธรรมเนียมน้อยที่สุดคือ Direct to Local Bank , Direct to U.S. , และ Paypal ตามลำดับ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างในการคำนวณเท่านั้นนะคะ เพื่อนๆต้องคำนวนกันวันต่อวันอีกทีว่าทางไหนจะได้เงินมากที่สุด เพราะอัตราแลกเปลี่ยนจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน และแต่ละช่องทางก็มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ตายตัวค่ะ บางวันช่องทางแรกอาจจะได้อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่า บางวันช่องทางอื่นอาจจะดีกว่าก็ได้ หรือบางช่องทางยิ่งโอนเยอะยิ่งเสียค่าธรรมเนียมน้อย เป็นต้น และแม้ว่าบางช่องทางจะเสียค่าธรรมเนียมน้อย แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ก็มักจะไม่ดีนัก ทำให้ได้เงินน้อยกว่าช่องทางอื่นๆ โดยปกติแล้วการโอนตรงแบบ Direct to Local Bank มักจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้ได้เงินน้อยกว่าช่องทางอื่นๆค่ะ

หลังจากตั้งค่าว่าเราจะใช้ช่องทางไหนในการโอนเงินจาก Upwork เข้าบัญชีแล้ว เราต้องรออีก 3 วัน จึงจะสามารถถอนเงินออกมาจาก Upwork ได้

ขั้นตอนการถอนเงินจาก Upwork

  • 1.เข้าไปที่ Setting หลังจากนั้นระบบจะให้กรอกรหัสผ่าน และตอบคำถาม security question ที่เราเคยตั้งไว้
  • 2.คลิกที่ Get paid ตรงแถบเมนูด้านซ้ายมือ
  • 3.คลิกที่ปุ่ม Get paid now จากนั้น Upwork ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของเราผ่านช่องทางที่เราตั้งไว้ค่ะ
GetPaid-8

มัฟฟินชั่งใจอยู่พักนึงว่าจะลองโอนแบบ Direct to Local Bank ดีไหม ก็เลยลองคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนในวันนั้นๆดูก่อน จึงพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Upwork ช่างน้อยนิดเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับการโอนเข้าธนาคารกรุงเทพนิวยอร์ก (Direct to U.S. Bank) ถึงแม้อย่างหลังดูเหมือนจะเสียค่าธรรมเนียมมากกว่า แต่เงินที่ได้รับกลับมากกว่าการโอนตรงเสียอีก มัฟฟินจึงยังไม่ใช้แบบ Direct to Local Bank จนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Upwork จะดีกว่าหรือเท่ากับของธนาคารกรุงเทพค่ะ

หวังว่าข้อมูลของมัฟฟินจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆนะคะ ยังไงก็อย่าลืมคำนวณเปรียบเทียบกันก่อนโอนเงินออกมานะคะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 3 งานดี คนจ้างเด่น เน้นสบายใจ

หลังจากที่เราได้เรียนรู้การสร้างโปรไฟล์เบื้องต้นกันไปแล้ว ในบทความนี้มัฟฟินจะมาบอกถึงวิธีการค้นหางานที่เราสนใจ และวิธีเลือก Client (ผู้จ้าง) ที่ดีๆค่ะ

อันดับแรกหางานที่สนใจก่อน แล้วจากนั้นจึงมาคัดกรองหา Client ดีๆทีหลังค่ะ เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย...

เมื่อเรา log in เข้ามาแล้วจะเจอหน้าจอแบบนี้

upwork-search-1

จะเห็นว่าตรงด้านบนของหน้าจอมีช่อง Search for Jobs ไว้สำหรับให้ค้นหาค่ะ เพื่อนๆสามารถพิมพ์คีย์เวิร์ดลงในช่องนั้นเพื่อค้นหางานหรือโปรเจคที่สนใจได้เลย

ในตัวอย่างนี้มัฟฟินต้องการทำงานเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมภาษา php จึงใช้คำว่า php ในการค้นหา

upwork-search-2

จากนั้นเราจะเห็นผลการค้นหาที่เกี่ยวกับ php ขึ้นมามากมาย เพื่อนๆสามารถกรองหางานเฉพาะที่สนใจจากแถบด้านซ้ายมือได้ โดยเลือกได้ว่าจะกรองเฉพาะงานที่เป็น Hourly (จ่ายค่าแรงเป็นรายชั่วโมง) อย่างเดียว ประสบการณ์ปานกลาง หรือกรอง Client ที่มีประวัติเคยจ้างมาแล้ว 1-9 คน ก็ได้

เราจะลองเลือกตัวอย่างมาสัก 1 งานเพื่อดูรายละเอียด ในที่นี้เราเลือกลิงค์แรกที่เห็นในภาพค่ะ

upwork-search-3

จากรูปด้านล่าง

- Details เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดของงาน

- Preferred Qualifications คือคุณสมบัติที่ Client ต้องการ ในที่นี้คือต้องทำงานสำเร็จ 90% เป็นอย่างน้อย

สำหรับคนที่ไม่ถึง 90% ตรงนี้จะขึ้นเครื่องหมาย ! สีแดง ซึ่งบ่งบอกว่าไม่ควรสมัครงานนี้เพราะถึงแม้จะสมัครไป ใบสมัครก็จะถูกจัดอยู่ในโซนคุณสมบัติไม่ผ่าน ซึ่งอาจจะไม่ถูกอ่านเลย (แต่ก็มี Client บางคนที่ใจดีพิจารณาใบสมัคร และเห็นว่าโปรไฟล์ดีก็อาจจะเลือกให้เราทำงานก็ได้ (ซึ่งมีน้อยมาก))

การจะทำงานได้อย่างสบายใจนั้น เราต้องมีทั้งงานที่ดีและ Client ที่ดีค่ะ ดังนั้นคราวนี้เราจะมาดูกันว่า Client คนนี้ดีไหม น่าทำงานด้วยไหม โดยดูที่ About the Client ด้านขวามือค่ะ

วิธีเลือก Client

  • ดูว่า Client ผูกบัญชีกับ Upwork สำหรับจ่ายเงินแล้วหรือยัง โดยดูที่เครื่องหมายถูกค่ะ

ถ้าขึ้นเครื่องหมาย ? แปลว่ายังไม่ผูกบัญชี

ถ้าขึ้นเครื่องหมายถูกสีเขียว  แสดงว่าผูกบัญชีแล้ว

ตรงนี้สำคัญยังไง?...  ก็สำคัญตรงที่มันเป็นตัวบอกว่า เขาจะมีเงินจ่ายให้เราได้ทันทีที่เราทำงานเสร็จ  เราจะได้ไม่ต้องรอเงินนานเกินไปโดยไม่จำเป็น หรือไม่ต้องทำงานฟรี

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้ผูกบัตรเครดิตแล้ว พร้อมจ่ายเงินได้ทุกเมื่อค่ะ

  • ดาวของ Client ต้องเกือบ 5 ดาว

ตรงนี้คือคะแนนรีวิวโดยรวมจากคนที่เคยทำงานร่วมกับ Client คนนี้  ส่วน Feedback ของแต่ละคนที่พูดถึง Client คนนี้ ต้องเลื่อนลงไปดูข้างล่างค่ะ

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้มีคะแนนอยู่ที่ 4.94 ดาว โดยมีคนรีวิวทั้งหมด 14 คน

  • เปอร์เซ็นต์การจ้างงานต้องเยอะ

ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะแปลว่าเมื่อเขาโพสท์หาฟรีแลนเซอร์ ก็จะมีการจ้างงานเกิดขึ้นแทบทุกครั้ง ไม่ใช่มาโพสท์เล่นๆ แล้วให้เราเสียเวลาสมัครโดยที่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่จ้างใครเลย

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้มีเปอร์เซ็นต์การจ้างงานอยู่ที่ 75% ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ได้

  • ดูเงินที่จ่ายค่าจ้างไป

เป็นส่วนที่แสดงว่าเขาจ่ายจริง ไม่ได้ให้เราทำงานให้ฟรีแล้วชิ่งหนีไป

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้ได้จ่ายเงินค่าจ้างไปแล้วทั้งหมด 6,269 ดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้เป็นค่าจ้างของฟรีแลนเซอร์ทั้งหมด 131 คนค่ะ

upwork-search-4

พอเลื่อนลงมาจะเป็นส่วนของ Review และ Feedback ที่ฟรีแลนเซอร์ที่เคยร่วมงานกับ Client คนนี้ให้ไว้ ตรงนี้บอกเราได้พอสมควรเกี่ยวกับ Client ว่าดีหรือไม่ บางคนเขียน Feedback ได้ดุเดือดมาก ถ้าเจอ Feedback ที่ไม่ดีจากหลายๆคน เราก็ควรเลี่ยง ไม่ควรทำงานกับ Client คนนั้น

นอกจากนี้เรายังประเมินได้อีกด้วยว่า Client คนนี้ให้ Feedback กับ Freelancer แต่ละคนอย่างไรบ้าง เช่น Freelancer ให้ Feedback กับ Client คนนี้ดี ให้คะแนน Review 4-5 ดาว แต่ Client กลับให้ Feedback ไม่ดี คะแนน Review ไม่ดี ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยๆก็น่าคิด แม้ว่าเราจะมองได้ว่า Client อาจมีมาตรฐานสูง แต่ถ้าหากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเพราะเราอาจได้รับ feedback ที่ไม่ดีกลับมาซึ่งส่งผลต่อ profile ของเรา

สำหรับตัวอย่างนี้ โดยรวมแล้วถือว่า Client คนนี้ดี เราจึงตัดสินใจจะร่วมงานกับเขาค่ะ

upwork-search-5

เมื่อเราตัดสินใจจะสมัครทำงานนี้ ขั้นตอนต่อไปก็คือการ "Submit a Proposal" ซึ่งเพื่อนๆสามารถอ่านต่อได้ที่ ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal สมัครทำงานบน Upwork ค่ะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 2 สร้างโปรไฟล์เบื้องต้น

หลังจากที่เราได้สมัครเป็นฟรีแลนเซอร์กับ Upwork เพื่อจะหาเงินออนไลน์กันไปแล้ว ในบทความนี้มัฟฟินจะพาทุกคนมาสร้างโปรไฟล์กันค่ะ

ทำไมต้องสร้างโปรไฟล์ ?

  • โปรไฟล์ที่ดี สามารถดึงดูดผู้ว่าจ้าง (Client) ได้
  • เพื่อให้ผู้ว่าจ้างสามารถดูประกอบการตัดสินใจก่อนจ้างเรา
  • เพิ่มความน่าเชื่อถือ
  • การกรอกข้อมูลโปรไฟล์ให้ครบถ้วนเป็นส่วนที่ส่งผลต่อคะแนนทักษะที่เพิ่มขึ้น หรือ Rising Talent ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและเพิ่มโอกาสในการรับงานของเราอีกด้วย

เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่าโปรไฟล์มีความสำคัญมาก บทความนี้มัฟฟินจะทำให้ดูเป็นตัวอย่างนะคะ เพื่อนๆสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับความสามารถหรือความถนัดของตัวเองได้ค่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย

ใครที่ทำต่อจากบทความที่แล้วก็คลิก "Continue To Create Profile" เลยค่ะ แต่ถ้าใครเพิ่ง log in เข้ามาใหม่ ก็จะเข้ามาที่หน้า Create Your Profile อัตโนมัติตามภาพถัดไปค่ะ

upwork-register-7

1. สมมติว่าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ คุณอาจจะเลือกทำงานในกลุ่ม Web,Mobile & Software Development งานที่สนใจก็จะเป็นพวก Web Development, Mobile Development, Software Development ความถนัดในการเขียนโปรแกรมก็จะเป็นภาษาที่คุณสามารถเขียนได้ เช่น PHP, VB, HTML หรืออื่นๆ

ในส่วนนี้เป็นข้อมูลที่เราเคยกรอกเมื่อตอนสมัครซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยคลิกที่รูปดินสอสีเขียวค่ะ แต่ถ้าใครกรอกข้อมูลจนพอใจแล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป (ดูภาพด้านล่างนะคะ)

upwork-profile-1

2. ต่อไปเขาจะให้เรา Upload รูป Profile ของเราค่ะ ควรจะเป็นรูปที่เห็นหน้าเราชัดเจนที่ดูดี ดูเป็นมิตรและน่าเชื่อถือค่ะ อาจไม่ต้องถึงกับเป็นรูปถ่าย 1 นิ้ว 2 นิ้วติดบัตร แต่ขอให้ดูเป็นมืออาชีพหน่อยเท่านั้นเองค่ะ

upwork-profile-2

3. จากนั้นก็เขียนคำอธิบายลักษณะงานที่คุณทำสั้นๆ ดังภาพด้านล่างในกรอบสีแดง ซึ่งทาง Upwork ก็ได้ไกด์ตัวอย่างไว้ให้แล้ว ในที่นี้เป็น Web & Desktop Application Developer หรือถ้าคุณจะทำงานด้านการแปลภาษาไทย-จีน ก็อาจจะใส่ว่า Thai-Chinese Translator ก็ได้

ส่วนในกรอบสีเหลืองนั้นเป็นส่วนที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว เพราะเป็นส่วนที่เราจะได้โฆษณาสรรพคุณของเราว่าเก่งอะไร มีความสามารถเทพแค่ไหน ประสบการณ์แน่นปึ้กเท่าไหร่ เคยทำโปรเจคอะไรมาแล้วบ้าง คุยกับนายจ้างรู้เรื่องไหม ที่สำคัญก็คือคนที่จะจ้างเรา หรือที่เรียกว่า Client นั้นมักจะมาอ่านข้อมูลสรรพคุณของเราตรงนี้ประกอบการตัดสินใจจ้างเรานั่นเอง

ตรงกรอบนี้ Upwork ก็มีตัวอย่างการเขียนให้เราแล้ว เราก็เพียงแค่เอามาปรับให้เหมาะสมกับตัวเราเองค่ะ ดูแล้วไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ^^

upwork-profile-3

ต่อมาเป็นส่วนของการศึกษา, ประสบการณ์การทำงาน และความสามารถภาษาอังกฤษค่ะ

upwork-profile-4

4. ในส่วนของการศึกษานั้น เราสามารถเพิ่มประวัติการศึกษาได้โดยคลิกเครื่องหมาย + สีเขียวๆนั้นได้เลยค่ะ จากนั้นก็กรอกประวัติการศึกษาได้เลย เอาแค่ในระดับปริญญาก็พอนะคะ ไม่ต้องไล่มาตั้งแต่ประถมค่ะ ใครมีปริญญาตรี โท เอก ก็กรอกทีละระดับนะคะ เช่น กรอกระดับปริญญาตรีเสร็จก็คลิกที่ Save And Add More แล้วค่อยกรอกในระดับปริญญาโทค่ะ โดยต้องระบุมหาวิทยาลัย, ปีที่เริ่มเรียน - ปีที่จบ, ระดับการศึกษา

ส่วนที่วงเล็บว่า optional นั้น ไม่จำเป็นต้องกรอกก็ได้ค่ะ เมื่อกรอกเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กด Save เลยค่ะ

upwork-profile-5

5. ในส่วนของประวัติการทำงาน เราก็สามารถเพิ่มได้โดยกดเครื่องหมาย + สีเขียว เราเคยทำงานที่บริษัทอะไร อยู่ที่ไหน ตำแหน่งอะไร เริ่มทำตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ เราก็กรอกลงไปในฟอร์มนี้ได้เลย

ปล. ในภาพเป็นเพียงตัวอย่างนะคะ มัฟฟินไม่ได้ทำงานที่บริษัทนี้ค่ะ

upwork-profile-6

6. เลือกว่าระดับภาษาอังกฤษของเราอยู่ในระดับไหน

  • Basic = สื่อสารผ่านการเขียนได้
  • Conversational = พูดคุยได้รู้เรื่อง
  • Fluent = คล่องปรื๋อ
  • Native or Bilingual = เจ้าของภาษา
upwork-profile-7

7.  ตั้งค่าตัวของเรา เป็นหน่วยดอลล่าร์ต่อชั่วโมง ตรงนี้อาจจะต้องไปหาข้อมูลว่าคนอื่นๆในสายงานของคุณบน Upwork ตั้งค่าตัวประมาณเท่าไหร่  และไม่ว่าเราจะเรียกค่าตัวเท่าไหร่เราก็จะโดนหักค่า Service Fee ไปถึง 20% เลยที่เดียว (ฮือ อยากร้องไห้ T_T)

upwork-profile-8

8. เลือกว่าเราสามารถทำงานกับ Upwork ได้สัปดาห์ละกี่ชั่วโมง ถ้าคิดคร่าวๆว่าทำงาน 5 วัน วันละ 6 ชั่วโมง ก็จะเป็น 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้วนะคะสำหรับคนที่มีงานประจำ ใครขยันมาก ขยันน้อยก็ลองคำนวณและเลือกกันดูค่ะ หรือใครที่ว่างพร้อมรับงานตลอดเวลาก็เลือกเป็น As Needed ก็ได้

upwork-profile-9

9. สุดท้ายให้กรอกที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ค่ะ เบอร์โทร์ให้ใส่เป็น 66 (รหัสประเทศไทย) ตามด้วยเบอร์โทรศัพท์เราโดยตัดศูนย์ข้างหน้าออกค่ะ จากนั้นคลิกปุ่ม Review Profile & Submit ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

upwork-profile-10

ตอนต่อไปมัฟฟินจะพาไปดูวิธีการหางานและรับงานออนไลน์บน Upwork ค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ ส่วนใครที่ต้องการดูคลิปขั้นตอนการสร้างโปรไฟล์ upwork เบื้องต้นผ่านทาง youtube ก็สามารถดูได้ข้างล้างนี้เลยค่ะ

สร้างรายได้จากการขายภาพออนไลน์

หลังจากบทความที่แล้วได้พูดถึง 3 วิธีหาเงินออนไลน์ กันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึง "การขายภาพออนไลน์" กันค่ะ

การขายภาพออนไลน์นั้นไม่ใช่ขายได้แค่ภาพถ่ายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพ vector, footage และเพลงอีกด้วย มาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่าแต่ละอย่างมีรายละเอียดอะไรบ้าง

1. ขายภาพถ่าย

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายรูป มีฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์แล้วล่ะก็ มัฟฟินอยากให้คุณนำผลงานภาพถ่ายของคุณมาสร้างรายได้ออนไลน์ค่ะ คุณสามารถส่งภาพถ่ายของคุณไปขายใน shutterstock, istockphoto, 123rf, fotolia, depositphotos ฯลฯ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดับโลกได้ โดยคุณจะต้องสมัครเป็นช่างภาพของเว็บไซต์ดังกล่าวก่อนแล้วจึงจะส่งภาพได้ บางเว็บไซต์ก็มีการตรวจรับภาพที่เข้มงวด เช่น shutterstock และ istockphoto แต่บางเว็บไซต์ก็สามารถ upload และวางขายได้ทันทีค่ะ

ถ้าคุณกำลังคิดว่าจะส่งภาพวิวทิวทัศน์ ท้องฟ้า สถานที่ท่องเที่ยว ดอกไม้ใบหญ้าแล้วล่ะก็ ช้าก่อนค่ะ เพราะภาพเหล่านี้มีคนส่งเข้าไปเยอะมาก มีโอกาสขายได้น้อย คุณควรส่งภาพประเภทครอบครัว, เพื่อนๆ, หรือคนที่กำลังทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น คุณสามารถศึกษาแนวโน้มของภาพที่มีคนต้องการเยอะหรือภาพขายดีได้จาก google มีเซียนหลายท่านได้เขียนให้ความรู้ไว้แล้วค่ะ

ขายภาพออนไลน์

2. ขายภาพ Vector

ภาพ vector คืออะไร?

ภาพ vector คือ "ภาพที่วาดจากโปรแกรม Adobe Illustrator, InkScape, CorelDraw ฯลฯ ซึ่งเป็นไฟล์ที่มีนามสกุล .ai, .drw, .cdr , .eps, .ps เป็นต้น ไฟล์ภาพประเภทนี้จะมีความละเอียดสูง ทำให้ไม่ว่าจะย่อหรือขยายขนาดภาพสักเท่าไหร่ภาพก็จะไม่แตก ภาพจะยังคมชัดเหมือนเดิม"

ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะซื้อภาพ vector เพื่อนำไปใช้ในงานออกแบบค่ะ หากเพื่อนๆคนไหนที่มีฝีมือในการวาดภาพ การออกแบบงานกราฟฟิคแบบนี้ก็อย่าพลาดโอกาสในการหาเงินออนไลน์จากภาพของคุณนะคะ

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่งภาพ vector ไปขายได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์เดียวกันกับที่คุณส่งภาพถ่ายไปขายนั่นเองค่ะ ซึ่งก็จะมี shutterstock,istockphoto, 123rf, fotolia, dreamstime ฯลฯ ภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างภาพ vector จาก shutterstock.com ค่ะ

ขายภาพ vector

3. ขาย Footage

Footage คืออะไร?

Footage คือ คลิปหรือไฟล์วีดีโอที่ถ่ายทำมาซึ่งเป็นไฟล์ต้นฉบับที่ยังไม่ได้ตัดต่อ

การทำคลิปหรือ footage ส่งวางขายนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันกับการขายภาพถ่ายค่ะ ควรส่งคลิปประเภทการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน, เด็กๆกำลังเรียนหนังสือ หรือ กำลังเล่นกัน เป็นต้น

วีดีโอคลิปถือว่าเป็น trend แห่งอนาคตเลยทีเดียวค่ะ ต่อไปนี้ภาพถ่ายจะดูธรรมดาไปเลย เพราะทุกคนจะนำเสนอเรื่องราวต่างๆผ่านคลิปวีดีโอ ถ้าจับ trend ได้คุณก็จะสามารถสร้างรายได้จากโลกออนไลน์ได้มากมายอย่างแน่นอน

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่ง footage หรือคลิปวีดีโอไปขายได้ ก็มี shutterstock,istockphoto, 123rf, fotolia, dreamstime ฯลฯ ค่ะ

ขายคลิป

4. ขายเพลง หรือ Audio

สำหรับคนที่มีฝีมือในการแต่งเพลง หรือดนตรีประกอบที่มีแบบฉบับของตนเอง ไม่ได้ก๊อปปี้ใครมาล่ะก็ อย่ารอช้าค่ะ รีบนำเพลงของคุณมาหารายได้ออนไลน์กันดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวป๊อป, ร็อค, โฟล์ก, อินดี้, คลาสสิก, แนวฟังสบาย ฯลฯ ก็สามารถส่งได้หมดค่ะ

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่งดนตรีประกอบไปหาเงินออนไลน์ได้ เท่าที่ทราบตอนนี้ก็มี shutterstock,istockphoto และ 123rf ค่ะ

ขายเพลง

หวังว่าบทความของมัฟฟินจะเป็นประโยชน์กับทุกคนให้มีไอเดียในการหาเงินออนไลน์กันบ้างนะคะ เพื่อนๆสามารถติดตามบทความต่อไปของมัฟฟินได้ที่ blog แห่งนี้ค่ะ