ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 2 สร้างโปรไฟล์เบื้องต้น

หลังจากที่เราได้สมัครเป็นฟรีแลนเซอร์กับ Upwork เพื่อจะหาเงินออนไลน์กันไปแล้ว ในบทความนี้มัฟฟินจะพาทุกคนมาสร้างโปรไฟล์กันค่ะ

ทำไมต้องสร้างโปรไฟล์ ?

  • โปรไฟล์ที่ดี สามารถดึงดูดผู้ว่าจ้าง (Client) ได้
  • เพื่อให้ผู้ว่าจ้างสามารถดูประกอบการตัดสินใจก่อนจ้างเรา
  • เพิ่มความน่าเชื่อถือ
  • การกรอกข้อมูลโปรไฟล์ให้ครบถ้วนเป็นส่วนที่ส่งผลต่อคะแนนทักษะที่เพิ่มขึ้น หรือ Rising Talent ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและเพิ่มโอกาสในการรับงานของเราอีกด้วย

เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่าโปรไฟล์มีความสำคัญมาก บทความนี้มัฟฟินจะทำให้ดูเป็นตัวอย่างนะคะ เพื่อนๆสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับความสามารถหรือความถนัดของตัวเองได้ค่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย

ใครที่ทำต่อจากบทความที่แล้วก็คลิก "Continue To Create Profile" เลยค่ะ แต่ถ้าใครเพิ่ง log in เข้ามาใหม่ ก็จะเข้ามาที่หน้า Create Your Profile อัตโนมัติตามภาพถัดไปค่ะ

upwork-register-7

1. สมมติว่าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ คุณอาจจะเลือกทำงานในกลุ่ม Web,Mobile & Software Development งานที่สนใจก็จะเป็นพวก Web Development, Mobile Development, Software Development ความถนัดในการเขียนโปรแกรมก็จะเป็นภาษาที่คุณสามารถเขียนได้ เช่น PHP, VB, HTML หรืออื่นๆ

ในส่วนนี้เป็นข้อมูลที่เราเคยกรอกเมื่อตอนสมัครซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยคลิกที่รูปดินสอสีเขียวค่ะ แต่ถ้าใครกรอกข้อมูลจนพอใจแล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป (ดูภาพด้านล่างนะคะ)

upwork-profile-1

2. ต่อไปเขาจะให้เรา Upload รูป Profile ของเราค่ะ ควรจะเป็นรูปที่เห็นหน้าเราชัดเจนที่ดูดี ดูเป็นมิตรและน่าเชื่อถือค่ะ อาจไม่ต้องถึงกับเป็นรูปถ่าย 1 นิ้ว 2 นิ้วติดบัตร แต่ขอให้ดูเป็นมืออาชีพหน่อยเท่านั้นเองค่ะ

upwork-profile-2

3. จากนั้นก็เขียนคำอธิบายลักษณะงานที่คุณทำสั้นๆ ดังภาพด้านล่างในกรอบสีแดง ซึ่งทาง Upwork ก็ได้ไกด์ตัวอย่างไว้ให้แล้ว ในที่นี้เป็น Web & Desktop Application Developer หรือถ้าคุณจะทำงานด้านการแปลภาษาไทย-จีน ก็อาจจะใส่ว่า Thai-Chinese Translator ก็ได้

ส่วนในกรอบสีเหลืองนั้นเป็นส่วนที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว เพราะเป็นส่วนที่เราจะได้โฆษณาสรรพคุณของเราว่าเก่งอะไร มีความสามารถเทพแค่ไหน ประสบการณ์แน่นปึ้กเท่าไหร่ เคยทำโปรเจคอะไรมาแล้วบ้าง คุยกับนายจ้างรู้เรื่องไหม ที่สำคัญก็คือคนที่จะจ้างเรา หรือที่เรียกว่า Client นั้นมักจะมาอ่านข้อมูลสรรพคุณของเราตรงนี้ประกอบการตัดสินใจจ้างเรานั่นเอง

ตรงกรอบนี้ Upwork ก็มีตัวอย่างการเขียนให้เราแล้ว เราก็เพียงแค่เอามาปรับให้เหมาะสมกับตัวเราเองค่ะ ดูแล้วไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ^^

upwork-profile-3

ต่อมาเป็นส่วนของการศึกษา, ประสบการณ์การทำงาน และความสามารถภาษาอังกฤษค่ะ

upwork-profile-4

4. ในส่วนของการศึกษานั้น เราสามารถเพิ่มประวัติการศึกษาได้โดยคลิกเครื่องหมาย + สีเขียวๆนั้นได้เลยค่ะ จากนั้นก็กรอกประวัติการศึกษาได้เลย เอาแค่ในระดับปริญญาก็พอนะคะ ไม่ต้องไล่มาตั้งแต่ประถมค่ะ ใครมีปริญญาตรี โท เอก ก็กรอกทีละระดับนะคะ เช่น กรอกระดับปริญญาตรีเสร็จก็คลิกที่ Save And Add More แล้วค่อยกรอกในระดับปริญญาโทค่ะ โดยต้องระบุมหาวิทยาลัย, ปีที่เริ่มเรียน - ปีที่จบ, ระดับการศึกษา

ส่วนที่วงเล็บว่า optional นั้น ไม่จำเป็นต้องกรอกก็ได้ค่ะ เมื่อกรอกเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กด Save เลยค่ะ

upwork-profile-5

5. ในส่วนของประวัติการทำงาน เราก็สามารถเพิ่มได้โดยกดเครื่องหมาย + สีเขียว เราเคยทำงานที่บริษัทอะไร อยู่ที่ไหน ตำแหน่งอะไร เริ่มทำตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ เราก็กรอกลงไปในฟอร์มนี้ได้เลย

ปล. ในภาพเป็นเพียงตัวอย่างนะคะ มัฟฟินไม่ได้ทำงานที่บริษัทนี้ค่ะ

upwork-profile-6

6. เลือกว่าระดับภาษาอังกฤษของเราอยู่ในระดับไหน

  • Basic = สื่อสารผ่านการเขียนได้
  • Conversational = พูดคุยได้รู้เรื่อง
  • Fluent = คล่องปรื๋อ
  • Native or Bilingual = เจ้าของภาษา
upwork-profile-7

7.  ตั้งค่าตัวของเรา เป็นหน่วยดอลล่าร์ต่อชั่วโมง ตรงนี้อาจจะต้องไปหาข้อมูลว่าคนอื่นๆในสายงานของคุณบน Upwork ตั้งค่าตัวประมาณเท่าไหร่  และไม่ว่าเราจะเรียกค่าตัวเท่าไหร่เราก็จะโดนหักค่า Service Fee ไปถึง 20% เลยที่เดียว (ฮือ อยากร้องไห้ T_T)

upwork-profile-8

8. เลือกว่าเราสามารถทำงานกับ Upwork ได้สัปดาห์ละกี่ชั่วโมง ถ้าคิดคร่าวๆว่าทำงาน 5 วัน วันละ 6 ชั่วโมง ก็จะเป็น 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้วนะคะสำหรับคนที่มีงานประจำ ใครขยันมาก ขยันน้อยก็ลองคำนวณและเลือกกันดูค่ะ หรือใครที่ว่างพร้อมรับงานตลอดเวลาก็เลือกเป็น As Needed ก็ได้

upwork-profile-9

9. สุดท้ายให้กรอกที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ค่ะ เบอร์โทร์ให้ใส่เป็น 66 (รหัสประเทศไทย) ตามด้วยเบอร์โทรศัพท์เราโดยตัดศูนย์ข้างหน้าออกค่ะ จากนั้นคลิกปุ่ม Review Profile & Submit ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

upwork-profile-10

ตอนต่อไปมัฟฟินจะพาไปดูวิธีการหางานและรับงานออนไลน์บน Upwork ค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ ส่วนใครที่ต้องการดูคลิปขั้นตอนการสร้างโปรไฟล์ upwork เบื้องต้นผ่านทาง youtube ก็สามารถดูได้ข้างล้างนี้เลยค่ะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 1 การสมัคร

หลังจากที่เกริ่นเรื่องการ "หาเงินออนไลน์จากงานฟรีแลนซ์" ในบทความก่อนหน้านี้ไปแล้ว วันนี้เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับการทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork กันค่ะ

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า Upwork เป็นตลาดฟรีแลนเซอร์ที่ใหญ่มาก เป็นเว็บไซต์ที่รวมทั้งฟรีแลนเซอร์จากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ด้วยกัน และยังเป็นแหล่งงานออนไลน์ที่ใหญ่มากอีกด้วย งานทุกงานที่โพสท์จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทุกคนที่เข้ามาใน Upwork จะสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นคุณจะต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับอ่านเข้าใจ และเขียนสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับผู้ว่าจ้างได้ ถ้าคุณอ่านไม่รู้เรื่อง สื่อสารผ่านการเขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ โอกาสที่คุณจะได้รับงานก็จะน้อยมาก หรือต่อให้คุณได้งานนั้น คุณก็อาจจะมีปัญหาในการคุยรายละเอียดกับผู้จ้าง ส่งผลให้งานที่ทำออกมาผิดพลาดได้ และอาจไม่ได้รับค่าจ้าง

แต่อย่างไรก็ตามมัฟฟินก็มั่นใจว่าคนไทยเราอ่านเข้าใจ เขียนสื่อสารได้รู้เรื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าจะให้พูดคุยแบบ speaking อาจจะมีปัญหาเท่านั้นเอง

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มต้นหาเงินออนไลน์บน Upwork กันเลยค่ะ

การสมัครเป็นฟรีแลนเซอร์บน Upwork

1. เมื่อเราเข้ามาใน www.upwork.com แล้วเราจะเห็นมุมขวาบนของหน้าจอที่เขียนว่า "Become a Freelancer" ให้คลิกเข้าไป เพื่อสมัครเป็นฟรีแลนเซอร์ค่ะ

upwork-register-1

2. เราจะพบหน้าจอที่ให้กรอกข้อมูล เช่น ชื่อ นามสกุล อีเมล์ เป็นต้น

เมื่อเรากรอกครบถ้วนแล้ว ก็เลือกว่าเราจะรับอีเมล์ข้อมูลข่าวสารจากทาง Upwork หรือไม่ ถ้ารับก็ติ๊กช่องสี่เหลี่ยมช่องแรก ถ้าไม่รับก็ปล่อยว่างไว้ค่ะ

เราจะต้องติ๊กช่องสี่เหลี่ยมช่องที่สองเพื่อแสดงว่าเราได้อ่านและยอมรับข้อตกลง ข้อกำหนดต่างๆของทาง Upwork ค่ะ จากนั้นก็คลิกที่ปุ่มสีเขียวๆ ที่เขียนว่า "Get Started"

upwork-register-2

3. จากนั้นเราจะพบหน้าจอที่บอกว่าทาง Upwork ได้ส่งอีเมล์มาให้เราแล้วซึ่งเป็นอีเมล์ที่เรากรอกไว้ที่หน้าเมื่อกี้นั่นเอง หน้าที่ของเราก็คือ เข้าไปเช็คอีเมล์ และกดยืนยันการสมัครสมาชิกในอีเมล์ของเราค่ะ

upwork-register-3

ใครที่เช็คแล้วไม่มีอีเมล์เข้ามาก็ลองเช็คในอีเมล์ขยะดูก่อนนะคะ ถ้าหากยังไม่ได้รับอีเมล์จริงๆก็สามารถคลิกที่ "Please re-send that verification email" เพื่อให้เขาส่งอีเมล์ให้เราอีกครั้งนึงได้

เราสามารถเปลี่ยนอีเมล์ได้อีกเช่นกันค่ะ ตรงบรรทัดที่ 3 "Change email"

4. เมื่อเช็คอีเมล์แล้ว เราก็จะเห็นว่าเขาต้องการให้เรายืนยันว่าเราได้ทำการสมัครจริง โดยให้เราคลิกที่ลิงค์สีเขียวๆนั้นเลยค่ะ พอคลิกแล้วมันก็จะพาเราไปที่หน้าของ Upwork ที่บอกว่าการยืนยันของเราสมบูรณ์แล้ว

upwork-register-4

5.  ที่หน้า Upwork เขาจะให้เราเลือกว่าเราถนัดที่จะทำงานประเภทไหน เพื่อเขาจะได้แนะนำโปรเจคที่ตรงกับความถนัด หรือที่เราสนใจมาให้เราได้

upwork-register-5

เช่น งานเขียนเว็บ,App   งาน IT   งานออกแบบ  งานเขียน เป็นต้น

upwork-register-6

ในช่องที่สอง ให้เรากรอกความสามารถอื่นที่เกี่ยวข้อง กรอกอย่างน้อย 1 อย่างค่ะ แต่แนะนำว่ากรอกสัก 3-10 อย่าง ที่เกี่ยวข้องมากๆ สุดๆ จริงๆ นะคะ ในส่วนนี้สามารถแก้ไขภายหลังได้ค่ะ

และสุดท้ายที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมสามกรอบ ให้เราเลือกว่าประสบการณ์ของเราอยู่ในระดับใด โดยมีให้เลือก 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น ระดับกลาง ระดับเชี่ยวชาญ ยิ่งคุณมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งสามารถสร้างรายได้ได้มากตามไปด้วย เมื่อเลือกเสร็จแล้วก็คลิกปุ่ม "See Recommendations" เลยค่ะ

6. จากนั้นเราก็จะมายังหน้า "งานที่แนะนำตามความสามารถและความสนใจ" ของเราค่ะ เราจะกด save งานที่เราสนใจหรือไม่ก็ได้

upwork-register-7

พอมาถึงหน้านี้ก็แปลว่าเราสมัครเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ แต่เรายังไม่พร้อมที่จะทำงานออนไลน์บน Upwork นะคะ จะต้องสร้างโปรไฟล์ของเราให้เสร็จเรียบร้อยก่อน บทความหน้ามัฟฟินจะพาทุกคนมา "สร้างโปรไฟล์บน Upwork"ค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ สำหรับใครที่ต้องการดูเป็นคลิปในยูทูปก็สามารถกดดูได้ข้างล่างนี้เลยค่ะ

หาเงินออนไลน์จากงานฟรีแลนซ์

บทความที่แล้ว เราได้พูดถึงการสร้างรายได้จากการขายภาพออนไลน์ไปแล้ว บทความนี้มัฟฟินจะมาสอนหาเงินออนไลน์กับอาชีพฟรีแลนเซอร์ออนไลน์กันค่ะ

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับอาชีพฟรีแลนเซอร์กันก่อนดีกว่า

ฟรีแลนซ์ ,ฟรีแลนเซอร์ หรือ freelancer คือ คนที่มีอาชีพรับจ้างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานหรือบริษัทใด มีการจัดตารางเวลาการทำงานของตนเองอย่างอิสระ มีการส่งงานและรับเงินกันตามแต่ที่จะตกลงกับนายจ้าง

ดังนั้น ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์ ก็คือ คนที่มีอาชีพรับจ้างอิสระในโลกออนไลน์ มีการติดต่อรับงานผ่านทางเว็บไซต์หรืออีเมล์ ส่งงานผ่านอีเมล์หรือ Share Drive เช่น Google Drive , Dropbox, Wetransfer ฯลฯ ไม่มีการพบปะกันตัวต่อตัวระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และอาจมีการจ่ายเงินค่าจ้างในรูปแบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ที่รับงาน, paypal หรืออื่นๆ

ฟรีแลนซ์

หลายคนคงนึกภาพว่า การเป็นฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นทำงานสบาย แค่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมุดเล่มเล็กๆ กับดินสอ แค่นี้ก็สามารถนั่งทำงานชิลๆ ในร้านกาแฟได้สบายๆแบบสโลวไลฟ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะทำงานฟรีแลนซ์ได้นั้น คุณจะต้องมีความรู้และความถนัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากพอที่จะรับงานได้ งานประเภทนี้เป็นงานที่ต้องใช้สมองและเวลามากพอๆกับงานประจำ เพียงแต่เราสามารถเลือกเวลาทำงานเองได้ ไม่ต้องเข้างานตามเวลาของบริษัท บางทีอาชีพนี้อาจจะเหนื่อยและเครียดกว่าการทำงานประจำเสียด้วยซ้ำ

พูดแบบนี้อาจจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจกันเกินไป แต่ก็อยากให้ทุกคนคิดว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาง่ายๆ การเป็นฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นก็มีข้อดีมากมายเหมือนกัน นอกจากเรื่องของการเลือกเวลาได้เองแล้ว บางงานก็ยังทำรายได้มากกว่าการทำงานประจำเสียอีก พอนึกถึงรายได้เยอะๆแบบนี้แล้วก็คงทำให้หลายคนหายเหนื่อไปเลยใช่ไหมคะ

ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์รับงานจากที่ไหน? ยังไง?

มัฟฟินเองก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ออนไลน์ไปควบคู่กับงานประจำค่ะ โดยปกติแล้วมัฟฟินจะรับงานจากเว็บไซต์ที่ใหญ่ๆระดับโลกเพราะจะมีคนจ้างได้จากทั่วทุกมุมโลก หลายๆคนคงจะเคยได้ยิน fiverr มาบ้างใช่ไหมคะ มัฟฟินเองก็เริ่มจาก fiverr มาก่อน แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเว็บไซต์นี้ให้ราคาค่อนข้างต่ำ มัฟฟินจึงเปลี่ยนไปรับงานในเว็บไซต์ที่ใหญ่กว่าค่ะ หากคุณมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารได้เข้าใจ คุณก็สามารถรับงานในเว็บไซต์ต่อไปนี้ได้ค่ะ

  • fiverr.com
  • freelancer.com
  • upwork.com
ฟรีแลนซ์ออนไลน์

fiverr.com เป็นเว็บไซต์ที่ให้ฟรีแลนเซอร์เข้าไปโพสท์ว่าตนเองจะรับทำงานอะไรในราคาเริ่มต้นที่ 5 ดอลลาร์ โดยแต่ละโพสท์จะเรียกว่า Gig ถ้ามีคนสนใจจะจ้างเรา เขาจะทักเข้ามาในแชท เพื่อพูดคุยรายละเอียดค่ะ หรือ บางคนก็กดซื้อ(ให้เราทำงานให้)ได้เลย

งานที่แต่ละคนโพสท์ใน fiverr.com นี้มีหลากหลายมาก บางคนก็เป็นงานง่ายๆที่คนอื่นๆทำไม่ได้ เช่น แปลงไฟล์ หรือบางคนก็โพสท์รับทำอะไรแปลกๆก็มี แถมยังมีคนจ้างด้วยแฮะ

ฟรีแลนซ์ออนไลน์

freelancer.com เป็นเว็บที่ใหญ่เว็บนึงเลย แต่โดยส่วนตัวที่เจอมาคือ เว็บไซต์นี้ค่อนข้างไม่ปลอดภัย มีคนมาโพสท์ spam เยอะ และบางทีก็โพสท์เว็บไซต์อันตรายหลอกว่าจะให้แปลหน้าเว็บนั้น พอคลิกเข้าไปดูก็ติดไวรัส หรือบางทีอาจเป็นเว็บไซต์ที่แอบดักข้อมูลของเรา นอกจากนั้น freelancer.com ก็ยังไม่สามารถตั้งค่าโปรไฟล์เราให้เป็น private แบบที่ให้เฉพาะสมาชิกในเว็บไซต์เห็นได้ ทำให้เมื่อ search จาก google หรือ web browser อื่นๆ ก็สามารถเห็นข้อมูลต่างๆของเราได้ง่าย แถมยังเห็นกิจกรรมบางกิจกรรมที่เราทำบนเว็บนั้นอีกด้วย ฉะนั้นมัฟฟินก็เลยโบกมือลาเว็บไซต์นี้เพื่อไปซบอกยักษ์ใหญ่ที่เพียบพร้อมกว่าอย่าง Upwork

ฟรีแลนซ์ออนไลน์

Upwork.com เป็นเว็บไซต์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติอเมริกา เกิดจากการรวมตัวกันของเว็บไซต์ฟรีแลนเซอร์ ชั้นนำอย่าง oDesk.com กับ Elance.com

Upwork นี้มีความปลอดภัยเรื่องไวรัสและข้อมูลมากกว่า freelancer.com มาก และมีการคุ้มครองฟรีแลนเซอร์ที่เข้าไปรับงานด้วยสัญญาของทาง Upwork อีกด้วย

ข้อเสียอย่างเดียวของเว็บไซต์นี้คือ การเปลี่ยนมาเก็บค่านายหน้า (service fee) แพงมาก จากเดิมที่ 10% เป็น 20% กันเลยทีเดียวในสำหรับโปรเจ็คที่ไม่เกิน 500 เหรียญ ส่วนโปรเจ็คไหนที่เกิน 500 เหรียญก็เก็บ 10%

งานออนไลน์เป็นทางเลือกที่ทำให้เราสามารถหารายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง และนับเป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียวเพราะเราไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่ต้องลำบากเรื่องฝนฟ้าอากาศ และไม่ต้องมีเงินลงทุนหลายหมื่นบาท เพียงแค่ลงทุนความรู้ และลงแรงทำงานให้สำเร็จเท่านั้น

บทความหน้ามัฟฟินจะมาเจาะลึกรายละเอียดการทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork อย่าลืมติดตามกันนะคะ

สร้างรายได้จากการขายภาพออนไลน์

หลังจากบทความที่แล้วได้พูดถึง 3 วิธีหาเงินออนไลน์ กันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึง "การขายภาพออนไลน์" กันค่ะ

การขายภาพออนไลน์นั้นไม่ใช่ขายได้แค่ภาพถ่ายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพ vector, footage และเพลงอีกด้วย มาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่าแต่ละอย่างมีรายละเอียดอะไรบ้าง

1. ขายภาพถ่าย

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายรูป มีฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์แล้วล่ะก็ มัฟฟินอยากให้คุณนำผลงานภาพถ่ายของคุณมาสร้างรายได้ออนไลน์ค่ะ คุณสามารถส่งภาพถ่ายของคุณไปขายใน shutterstock, istockphoto, 123rf, fotolia, depositphotos ฯลฯ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดับโลกได้ โดยคุณจะต้องสมัครเป็นช่างภาพของเว็บไซต์ดังกล่าวก่อนแล้วจึงจะส่งภาพได้ บางเว็บไซต์ก็มีการตรวจรับภาพที่เข้มงวด เช่น shutterstock และ istockphoto แต่บางเว็บไซต์ก็สามารถ upload และวางขายได้ทันทีค่ะ

ถ้าคุณกำลังคิดว่าจะส่งภาพวิวทิวทัศน์ ท้องฟ้า สถานที่ท่องเที่ยว ดอกไม้ใบหญ้าแล้วล่ะก็ ช้าก่อนค่ะ เพราะภาพเหล่านี้มีคนส่งเข้าไปเยอะมาก มีโอกาสขายได้น้อย คุณควรส่งภาพประเภทครอบครัว, เพื่อนๆ, หรือคนที่กำลังทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น คุณสามารถศึกษาแนวโน้มของภาพที่มีคนต้องการเยอะหรือภาพขายดีได้จาก google มีเซียนหลายท่านได้เขียนให้ความรู้ไว้แล้วค่ะ

ขายภาพออนไลน์

2. ขายภาพ Vector

ภาพ vector คืออะไร?

ภาพ vector คือ "ภาพที่วาดจากโปรแกรม Adobe Illustrator, InkScape, CorelDraw ฯลฯ ซึ่งเป็นไฟล์ที่มีนามสกุล .ai, .drw, .cdr , .eps, .ps เป็นต้น ไฟล์ภาพประเภทนี้จะมีความละเอียดสูง ทำให้ไม่ว่าจะย่อหรือขยายขนาดภาพสักเท่าไหร่ภาพก็จะไม่แตก ภาพจะยังคมชัดเหมือนเดิม"

ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะซื้อภาพ vector เพื่อนำไปใช้ในงานออกแบบค่ะ หากเพื่อนๆคนไหนที่มีฝีมือในการวาดภาพ การออกแบบงานกราฟฟิคแบบนี้ก็อย่าพลาดโอกาสในการหาเงินออนไลน์จากภาพของคุณนะคะ

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่งภาพ vector ไปขายได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์เดียวกันกับที่คุณส่งภาพถ่ายไปขายนั่นเองค่ะ ซึ่งก็จะมี shutterstock,istockphoto, 123rf, fotolia, dreamstime ฯลฯ ภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างภาพ vector จาก shutterstock.com ค่ะ

ขายภาพ vector

3. ขาย Footage

Footage คืออะไร?

Footage คือ คลิปหรือไฟล์วีดีโอที่ถ่ายทำมาซึ่งเป็นไฟล์ต้นฉบับที่ยังไม่ได้ตัดต่อ

การทำคลิปหรือ footage ส่งวางขายนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันกับการขายภาพถ่ายค่ะ ควรส่งคลิปประเภทการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน, เด็กๆกำลังเรียนหนังสือ หรือ กำลังเล่นกัน เป็นต้น

วีดีโอคลิปถือว่าเป็น trend แห่งอนาคตเลยทีเดียวค่ะ ต่อไปนี้ภาพถ่ายจะดูธรรมดาไปเลย เพราะทุกคนจะนำเสนอเรื่องราวต่างๆผ่านคลิปวีดีโอ ถ้าจับ trend ได้คุณก็จะสามารถสร้างรายได้จากโลกออนไลน์ได้มากมายอย่างแน่นอน

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่ง footage หรือคลิปวีดีโอไปขายได้ ก็มี shutterstock,istockphoto, 123rf, fotolia, dreamstime ฯลฯ ค่ะ

ขายคลิป

4. ขายเพลง หรือ Audio

สำหรับคนที่มีฝีมือในการแต่งเพลง หรือดนตรีประกอบที่มีแบบฉบับของตนเอง ไม่ได้ก๊อปปี้ใครมาล่ะก็ อย่ารอช้าค่ะ รีบนำเพลงของคุณมาหารายได้ออนไลน์กันดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวป๊อป, ร็อค, โฟล์ก, อินดี้, คลาสสิก, แนวฟังสบาย ฯลฯ ก็สามารถส่งได้หมดค่ะ

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่งดนตรีประกอบไปหาเงินออนไลน์ได้ เท่าที่ทราบตอนนี้ก็มี shutterstock,istockphoto และ 123rf ค่ะ

ขายเพลง

หวังว่าบทความของมัฟฟินจะเป็นประโยชน์กับทุกคนให้มีไอเดียในการหาเงินออนไลน์กันบ้างนะคะ เพื่อนๆสามารถติดตามบทความต่อไปของมัฟฟินได้ที่ blog แห่งนี้ค่ะ

3 วิธีหาเงินออนไลน์

ยุคนี้เป็นยุคที่คนทั่วโลกต่างทำงานกันผ่านโลกออนไลน์ เหตุผลหนึ่งก็คงเพราะความสะดวกในการจัดสรรเวลาและสถานที่ทำงานของตัวเองได้นั่นเอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเองต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อทำงานและสร้างรายได้บนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการที่มีเงินไม่พอใช้หรือสาเหตุจากความต้องการทำงานอิสระก็ตามที

ในปัจจุบันดูเหมือนว่าใครๆก็มีงานพิเศษหรือธุรกิจส่วนตัวในโลกออนไลน์เพื่อหารายได้เสริมกันทั้งนั้น แต่ก็ยังคงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่ามีงานหรือธุรกิจออนไลน์อะไรที่ทำเงินให้เราได้บ้าง วันนี้มัฟฟินจะมาไขข้อข้องใจให้ทุกๆท่านได้ทราบว่าจะหาเงินออนไลน์ได้อย่างไร

มัฟฟินได้แบ่งวิธีหาเงินออนไลน์ออกเป็น 3 วิธีกว้างๆดังนี้ค่ะ

หาเงินออนไลน์

วิธีที่ 1 ขายของออนไลน์

หลายต่อหลายคนร่ำรวยมาจากการขายของออนไลน์นี่แหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขายผ่านทาง website , facebook, instagram, Line หรืออื่นๆ

การขายของออนไลน์ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า โทรศัพท์ พาวเวอร์แบงค์ ฯลฯ อย่างที่เราเห็นกันเท่านั้น แต่ยังมีคอร์สอบรมต่างๆ ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ และงานกราฟฟิคอีกด้วย

สำหรับภาพถ่าย คลิปวีดีโอ และงานกราฟฟิคนั้น เราสามารถนำไปขายได้ตามเว็บขายภาพออนไลน์ อย่าง shutterstock , istockphoto , 123rf เป็นต้น คุณผู้อ่านสามารถ search ผ่านทาง google เพื่อค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับการขายภาพออนไลน์ได้ เนื่องจากมีผู้เขียนหลายท่านได้เขียนเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว

วิธีที่ 2 ให้บริการออนไลน์

มีหลายคนและหลายบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการออนไลน์ และมีรายได้มากมายจากบริการนี้ ทั้งรายได้จากค่าบริการเองและค่าโฆษณา ตัวอย่างบริการออนไลน์ก็อย่างเช่น

  • web hosting ที่บริการให้เช่าพื้นที่ทำเว็บไซต์
  • คลิปวีดีโอ ผ่านทาง youtube และอื่นๆที่คล้ายกัน ในรูปแบบของการสอนภาษา สอนแต่งภาพ หรืออื่นๆ
  • บริการตัวกลางในการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น paypal เป็นต้น
  • บริการตัวกลางในการขายสินค้า เช่น Amazon , Alibaba, Kaidee เป็นต้น

วิธีที่ 3 ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์

ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นกำลังเริ่มแพร่หลายในประเทศไทยค่ะ แต่ในต่างประเทศนั้นเขานิยมกันมานานแล้ว การจะทำงานประเภทนี้ได้เราจำเป็นจะต้องมีความรู้พอสมควร ตัวอย่างงานของฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นมีหลากหลายประเภทมาก ทั้งงานเขียนโปรแกรม งานออกแบบ งานเลขา งานแปล งานกราฟฟิค และอื่นๆอีกมากมาย ขอเพียงคุณมีความรู้ก็หางานได้ไม่ยาก

หวังว่าทุกท่านจะได้ไอเดียเพื่อหาเงินออนไลน์นะคะ คุณผู้อ่านสามารถเลือกอ่านบทความของมัฟฟินเพิ่มเติมได้จากหน้า สารบัญ ค่ะ