แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ รายได้พิเศษ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ รายได้พิเศษ แสดงบทความทั้งหมด

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 8 Top Rated Freelancer

พอทำงานออนไลน์กับ Upwork มาสักพัก เพื่อนๆคงจะสังเกตเห็นคนที่เป็น Top Rated Freelancer อยู่บ้างใช่ไหมคะ เพื่อนๆอาจจะอยากรู้ว่า Top rate คืออะไร ดียังไง วันนี้มัฟฟินจะพาเพื่อนๆมาทำความรู้จักกับเจ้าสิ่งนี้กันค่ะ

Top Rate คืออะไร?

Top Rate เป็นเครื่องมือในการคัดฟรีแลนเซอร์ว่าใครทำงานดีและโดดเด่น เมื่อคัดแล้วก็จะเปิดโอกาสให้เติบโตในสายงานของตัวเองได้มากกว่าคนอื่นๆที่ไม่ได้เป็น Top Rate

เป็น Top Rate แล้วดียังไง?

ปกติเมื่อ Client โพสท์โปรเจคสักโปรเจคหนึ่งก็มักจะมองหาฟรีแลนเซอร์ที่เป็น Top Rate มากกว่าฟรีแลนเซอร์ทั่วไป ดังนั้นคนที่เป็น Top Rate จึงมักจะมีโอกาสที่จะได้งานมากกว่า

ข้อดีของการเป็น Top Rated Freelancer มีดังนี้

  • คำเชิญให้เราส่ง proposal โปรเจคต่างๆ ซึ่ง client ที่ส่งคำเชิญมานั้นมีแนวโน้มที่จะพิจารณาเราก่อนคนอื่นๆ นั่นก็แปลว่า เรามีโอกาสได้รับงาน-ได้รับเงินมากกว่าคนอื่น
  • คำแนะนำในการเขียนโปรไฟล์ให้ดีขึ้น เมื่อเขียนโปรไฟล์ได้น่าสนใจมากขึ้น client ที่เข้ามาอ่านก็จะอยากจ้างเรามากขึ้น
  • การช่วยเหลืออย่างดีเยี่ยมทั้งทางโทรศัพท์, แชท และ e-mail เมื่อมีปัญหา
  • สิทธิ์ในการเข้าร่วมในชุมชนคน Top Rate เพื่อให้เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จาก Top Rate คนอื่นๆ
  • ลบ feedback ที่ไม่ดีออกจากโปรไฟล์ได้ 1 job
  • เลือกลบดาวรีวิวที่น้อยหรือ comment ที่ไม่ดีออกไปได้

จะเป็น Top Rate ได้อย่างไร?

การจะเป็น Top Rate ได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ทำรายได้อย่างน้อย $1,000 ในหนึ่งปีที่ผ่านมา
  • กรอกโปรไฟล์ครบถ้วน 100%
  • มี Job Success Score 90% ขึ้นไป
  • มี Rising Talent หรือ Job Success Score อย่างน้อย 90% (อย่างน้อย 13 สัปดาห์จาก 16 สัปดาห์)
  • มีความเคลื่อนไหวตลอด 3 เดือนบน Upwork (ส่ง Proposal, ตอบ chat, ทำงาน ฯลฯ)
top-rated-freelancer-1

รู้อย่างนี้แล้วเรามาทำตัวเราให้ติด Top Rated Freelancer กันดีกว่า โดยเริ่มจากการกรอก Profile ให้ได้ 100%

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าส่วนไหนให้เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่บ้าง

  • ประวัติการศึกษา +10%
  • ประสบการณ์อื่นๆ +5%
  • ประวัติการทำงาน +10% (สูงสุด30%)
  • คะแนนการทดสอบ Skill Test +10% (สูงสุด30%)
  • ใบประกาศต่างๆ +5% (สูงสุด10%)
  • ผลงานต่างๆ +5% (สูงสุด10%)

คราวนี้มัฟฟินจะสอนกรอกในส่วนของผลงาน (Portfolio) ต่างๆและใบประกาศนียบัตร (Certificate) รวมทั้งบอกวิธีไปทำ Test เพราะในส่วนอื่นๆนั้นเราได้กรอกหมดแล้วตั้งแต่ตอนที่ 2 สร้างโปรไฟล์เบื้องต้น

การกรอกผลงาน (Portfolio)

ให้เพื่อนๆไปที่หน้า Profile แล้วเลื่อนลงมาหาหัวข้อ Portfolio จากนั้นคลิกที่หัวข้อดังกล่าว (หรือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆหัวข้อนั้นก็ได้) เพื่อเพิ่มผลงานที่เราเคยทำ

top-rated-freelancer-2

จากนั้นจะปรากฏหน้าต่างขึ้นมาให้เรากรอกข้อมูล โดยจะต้องกรอกชื่อโปรเจคที่ทำ, เลือกว่าโปรเจคนี้ทำบน upwork หรือไม่, ข้อมูลคร่าวๆของโปรเจค, เลือกประเภทของโปรเจค, วันที่ทำเสร็จ และเพิ่มรูปภาพ จากนั้นก็คลิกที่ปุ่ม Publish Project (ตัวอย่างดังภาพข้างล่าง) ในส่วน Portfolio นี้เพื่อนๆสามารถเพิ่มกี่โปรเจคก็ได้ตามใจเพื่อนๆเลย ยิ่งเยอะยิ่งดีค่ะ

top-rated-freelancer-3

การเพิ่ม Certificate

ถัดมาจะเป็นส่วนของ Certifications ให้คลิกที่หัวข้อ Certifications (หรือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆหัวข้อนั้นก็ได้)

top-rated-freelancer-4

จากนั้นเลือกชื่อใบประกาศนียบัตรที่เคยได้รับ แต่ถ้าไม่มีใน list ให้เลือก other

top-rated-freelancer-5

สมมติว่าเลือก other เราจำเป็นต้องกรอกชื่อใบประกาศฯเอง โดยระบุหน่วยงานที่ออกใบประกาศฯนี้ให้เรา คำอธิบายเกี่ยวกับใบประกาศฯ วันเดือนปีที่ได้รับ จากนั้นคลิกปุ่ม Add Certification ก็เป็นอันเสร็จ ถ้าเพื่อนๆมีหลายใบก็สามารถเพิ่มได้อีกโดยทำแบบเดิมคือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆคำว่า Certifications เลือกใบประกาศฯ กรอกรายละเอียด และคลิกปุ่ม Add Certification ค่ะ

top-rated-freelancer-6

การทำ Tests

ถัดมาคือการทำ Tests โดยคลิกที่หัวข้อ Tests เพื่อไปยังหน้า Skill Tests ซึ่งจะมีชุดข้อสอบต่างๆให้เราเลือกทำ มัฟฟินแนะนำให้ทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษก่อน เช่น UK English Basic Skills Test และ U.S. English Basic Skills Test เพราะงานหลายๆโปรเจคมักจะกำหนดคุณสมบัติว่ารับเฉพาะ freelancer ที่ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษของ upwork

นอกจากนี้เพื่อนๆยังสามารถทำแบบทดสอบที่ตรงกับความสามารถของตัวเองเพิ่มได้ค่ะ

top-rated-freelancer-7

แบบทดสอบภาษาอังกฤษจะมีทั้งหมด 40 ข้อ เป็นแบบ multiple choice ใช้เวลาทำ 40 นาทีค่ะ

top-rated-freelancer-8

เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราต้องตั้งค่าให้คะแนนของเราแสดงบน Profile โดยคลิกปุ่ม YES ตรงคอลัมน์ Display on profile เมื่อคลิกแล้วปุ่ม YES จะเป็นสีเขียว ตามภาพข้างล่างค่ะ

top-rated-freelancer-9

ใครที่ได้คะแนนน้อยก็ไม่ต้องกังวลค่ะ (เราก็ได้น้อยเหมือนกัน ฮ่าๆๆ) เพราะเพื่อนๆสามารถกลับมาทำแบบทดสอบใหม่ได้ในอีก 30-180 วันข้างหน้าขึ้นอยู่กับแบบทดสอบแต่ละแบบค่ะ

มัฟฟินคงต้องจบบทความนี้ไว้เท่านี้ เพราะต้องรีบไปเขียนเรื่องการกรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN ต่อ อย่าลืมติดตามกันนะคะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 7 คุณสมบัติไม่ผ่าน จะหางานได้ยังไง

หลายคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานบน Upwork ใหม่ๆคงจะสังเกตเห็นว่า มีงานบางงานที่ระบุคุณสมบัติของ Freelancer ที่ต้องการเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งเพื่อนๆอาจจะไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้น ทำให้สมัครไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับ หรือสมัครไปแล้วเสีย connects เปล่าๆเพราะ Client ไม่พิจารณาใบสมัคร จนทำให้หลายคนท้อใจไปตามๆกัน

คุณสมบัติหลักๆที่ Freelancer หน้าใหม่ไม่ผ่านกัน มีดังนี้

  • Job Success Score
  • English Level
  • Upwork Hours
  • Rising Talent
upwork-prefered-qualifications-1

คราวนี้ลองมาดูกันว่าแต่ละอย่างคืออะไร และจะทำอย่างไรให้คุณสมบัติของเราผ่านเกณฑ์ได้บ้าง

Job Success Score

Job Success Score หรือ คะแนนการทำงานสำเร็จ เป็นตัววัดผลงานและสะท้อนประวัติการทำงานของเราบน Upwork โดยมีพื้นฐานจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง ซึ่งมีวิธีคำนวณกว้างๆดังนี้

(ผลงานดี - ผลงานที่ไม่ดี) / ผลงานทั้งหมด

upwork-prefered-qualifications-2

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคะแนน Job Success Score นั้นมีพื้นฐานมาจากหลายองค์ประกอบ ทั้ง feedback จาก Client, การจ้างงานซ้ำจาก Client ที่เคยจ้าง, งานที่สำเร็จ และอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ถ้า Client คนเดิมกลับมาจ้างเราอีกครั้ง คะแนนเราก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ, feedback ที่นำมาคำนวณ ก็จะพิจารณาหลายๆอย่าง ถ้า Client มีประวัติไม่ดี แต่เราดีมาโดยตลอด ก็จะไม่เอา Client นี้มาคำนวณ เป็นต้น

ในส่วนของการคำนวณที่ละเอียดนั้น Upwork ไม่เปิดเผยให้ทราบ เพราะเกรงว่าถ้าเปิดเผยไปแล้วจะมีฟรีแลนเซอร์บางกลุ่มไปปั่นคะแนนตัวเองให้สูงขึ้น

Upwork จะ update คะแนนนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่จะมีการคำนวณคะแนนตลอดในช่วงระยะเวลา 24 เดือน เป้าหมายของเราคือพยายามรักษาคะแนนนี้ให้เกิน 90% โดย

  • ทำงานให้สำเร็จและเรียบร้อย
  • ส่งงานให้ตรงเวลา
  • ถ้าคิดว่าจะส่งไม่ทันก็อย่ารับงานนั้น
  • สื่อสารกับ Client ตลอด อย่าหายตัว ถ้ามีจะทำธุระแล้วไม่สะดวกตอบก็บอก Client ไว้ก่อน
  • ทำงานให้ Client ประทับใจจนกลับมาจ้างเราอีก

English Level

English Level หรือ ระดับภาษาอังกฤษ เป็นตัวบ่งบอกว่าระดับภาษาอังกฤษของเราอยู่ในระดับใด ถ้าเราไม่ใช่เจ้าของภาษา Upwork ก็จะวัดเราโดยการให้ทำแบบทดสอบ เพื่อนๆสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ฟรี โดยคลิกที่ Test บนแท็บเมนูด้านบน

upwork-prefered-qualifications-3

จะเห็นว่ามีแบบทดสอบให้เลือกทำมากมาย เพื่อนๆสามารถเลือกทำแบบทดสอบได้ทันที โดยปกติแล้วแบบทดสอบภาษาอังกฤษจะมีประมาณ 40 ข้อ และให้ใช้เวลาในการทำ 40 นาทีค่ะ

upwork-prefered-qualifications-4

ถ้าทำแบบทดสอบไม่ผ่าน เพื่อนๆสามารถกลับไปทำซ้ำอีกได้ในอีก 1 เดือนหลังจากที่ได้ทำครั้งล่าสุดไปแล้ว สิ่งสำคัญคือเพื่อนๆควรทำแบบทสอบด้วยตัวเอง ห้ามลอก ห้ามถาม ห้ามเผยแพร่แบบทดสอบโดยเด็ดขาดค่ะ นี่เป็นข้อห้ามที่สำคัญของ Upwork เลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนนำไปเผยแพร่อยู่ดี อย่างไรก็ตามมัฟฟินก็อยากจะให้เราซื่อสัตย์ต่อตัวเราเอง เพราะเมื่อเราทำเองและทำผิด เราก็จะได้รู้และนำไปแก้ไขปรับปรุงทักษะของเราให้ดีขึ้น ดังนั้นคนที่จะได้ประโยชน์ในระยะยาวก็คือตัวเราเองค่ะ

Upwork Hours

ปัญหาเรื่อง Upwork Hours นั้นเป็นเรื่องของชั่วโมงทำงานน้อย หรือไม่มีเลย (หมายถึงชั่วโมงทำงานแบบ Hourly) ฟรีแลนเซอร์หลายๆคนอาจจะทำงานแบบ Fixed Price จึงทำให้ไม่มีชั่วโมงทำงานแบบ Hourly หรืออาจจะมีน้อย ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ Client บางรายตั้งไว้

วิธีทำให้ชั่วโมงทำงานมีเพิ่มมากขึ้นก็คงต้องเป็นการรับงานแบบ Hourly ที่เป็นงานที่เราสามารถทำได้ ซึ่งบางงานอาจจะไม่ใช่งานในสายหลักที่เราทำ ตัวอย่างเช่น งานหลักที่เราทำเป็นงานแปล แต่เรารับงานเป็น Personal / Virtual Assistant แบบรายชั่วโมงที่เนื้องานนั้นเราสามารถทำได้ หรือจะหางานสายหลักของเราที่เป็นแบบ Hourly ทำ เพื่อสะสมชั่วโมงการทำงานของเราให้สามารถสมัครงานหลักที่ต้องการคนที่มีคุณสมบัติ Upwork Hours ผ่านเกณฑ์ได้ เป็นต้น

upwork-prefered-qualifications-5

Rising Talent

Rising Talent เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า Freelancer แต่ละคนมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในสายของของตนเองมากเพียงใด

เราจะได้ Rising Talent ก็ต่อเมื่อ

  • กรอกข้อมูลใน Profile ครบถ้วน ทั้งข้อมูลการศึกษา การทำงาน การทดสอบภาษาอังกฤษ
  • ให้คะแนนในทางบวกกับ Client
  • Update เวลาว่างที่จะทำงาน (availability status) เสมอ
  • ยื่น proposal สมัครงานอย่างสม่าเสมอ

รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปปรับใช้กันนะคะ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ถ้าเพื่อนๆลองนำไปปรับใช้ดู มัฟฟินคิดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการทำงานออนไลน์บน Upwork ได้อย่างแน่นอนค่ะ

บทความหน้าเป็นเรื่องของ Top Rated Freelancer อย่าลืมติดตามกันนะคะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 6 บันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App

หลังจากที่เราได้รู้ว่า Hourly กับ Fixed Price ต่างกันอย่างไรแล้ว บทความนี้มัฟฟินจะมาแนะนำวิธีบันทึกเวลาทำงานแบบรายชั่วโมง (Hourly) ผ่าน  Upwork Desktop App ค่ะ

ดาวน์โหลด App

คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการทำงานบน Upwork แบบ Hourly นั้นจำเป็นต้องมีการบันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App ซึ่งเป็นโปรแกรม หรือ แอพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ของเรา ถ้ายังไม่ได้ดาวน์โหลดไว้ เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดจากใน Upwork ได้เลยค่ะ ลิงค์สำหรับดาวน์โหลดจะอยู่ในหน้าแรกหลังจากที่เพื่อนๆ log in เข้าไป โดยจะอยู่ทางขวามือที่เขียนว่า "Track time with the desktop app" มีรูปนาฬิกาอยู่ข้างหน้า และเมื่อคลิกเข้าไปแล้วก็จะลิงค์มาที่ www.upwork.com/downloads

upwork-desktop-app-1
upwork-desktop-app-2

เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้วก็ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ได้เลยค่ะ ภาพข้างล่างคือหน้าตาของโปรแกรมหลังจากที่เราติดตั้งเสร็จแล้ว

upwork-desktop-app-3

คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญในการทำงานแบบ Hourly แล้วค่ะ นั่นคือการบันทึกเวลาการทำงานของเราซึ่งมีวิธีทำดังนี้

วิธีบันทึกเวลา

  1. เปิด Upwork Desktop App ขึ้นมา
  2. log in โดยใช้บัญชีเดียวกับที่เรา log in บนเว็บไซต์
  3. เลือก Contract ที่จะบันทึกเวลาทำงาน
  4. คลิก ON เพื่อเริ่มบันทึกเวลา
  5. คลิกที่ "What are you working on?" เพื่อใส่คำอธิบายสั้นๆว่าเราทำอะไร
  6. เริ่มทำงาน
  7. เมื่อพัก หรือ ทำงานเสร็จ ให้คลิก OFF เพื่อหยุดการบันทึกเวลา

Upwork Desktop App ทำอะไรบ้าง?

  • บันทึกเวลา
  • สุ่มถ่ายภาพหน้าจอขณะทำงานเป็นช่วงๆ (ประมาณชั่วโมงละ 6 ครั้ง)
  • บันทึกจำนวนครั้งที่คลิกเมาส์/เลื่อนเมาส์/กดคีย์บอร์ด

ทุกอย่างที่ app นี้บันทึกไว้จะถูก Upload ขึ้นไปยังเว็บไซต์ Upwork โดยสามารถดูได้ใน Work Diary อย่างไรก็ตามเพื่อนๆสามารถแก้ไขคำอธิบายสั้นๆได้ และยังสามารถลบภาพได้ด้วย แต่การลบภาพที่ถ่ายหน้าจอนั้นจะเป็นการลบช่วงเวลาการทำงานช่วงดังกล่าวไปด้วย หมายความว่าช่วงเวลาที่ถูกลบไปจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นค่าจ้าง

จบบทความแล้วเพื่อนๆฟรีแลนเซอร์ทุกคนอย่าลืมนำไปใช้นะคะ บทความหน้าเป็นตอนที่ 7 คุณสมบัติไม่ผ่าน จะหางานได้ยังไง เพื่อนๆสามารถติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ ขอบคุณที่ติดตามบล็อกของมัฟฟินนะคะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 5 Hourly vs Fixed Price

หลังจากที่เพื่อนๆได้ศึกษาบทความ"ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal" ไปแล้ว เพื่อนๆอาจจะสงสัยว่า Hourly กับ Fixed Price คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ค่ะ

คงเป็นเรื่องปกติที่เวลาเรารับทำงานออนไลน์ เรามักจะกังวลว่าเราจะได้รับค่าจ้างจริงหรือเปล่า เราจะโดนโกงไหม ถ้าหากนายจ้างไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ เราจะฟ้องร้องได้ยังไงบ้าง

เมื่อเรามารับทำงานบน Upwork เราจะสบายใจเรื่องนี้ได้บ้าง เพราะ Upwork มีระบบที่มีการคุ้มครองฝั่งฟรีแลนเซอร์อย่างเราๆด้วยสัญญาในการทำงาน 2 แบบที่ผูกมัดระหว่างนายจ้าง (Client) กับฟรีแลนเซอร์คือ

1. Hourly

เป็นการจ้างทำงานรายชั่วโมง สัญญาแบบนี้จะให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อ

  • Client กดจ้าง (Hire) เรา
  • เรา Accept ที่จะทำงานนี้
  • เราใช้ Upwork Desktop App ในการบันทึกเวลาการทำงาน
  • ไม่ใส่เวลาเอง หรือที่เรียกว่า ;Add Manual Time แม้ว่า Client จะอนุญาตให้ทำได้
  • เราทำงานจริง โดยจะเห็นได้จาก Work Diary
  • เราเขียนคำอธิบายสั้นๆและได้ใจความใน Work Diary ว่าทำอะไรบ้าง
  • จำนวนชั่วโมงไม่เกินลิมิตรายสัปดาห์ในสัญญา (ชั่วโมงส่วนเกินก็จะไม่ได้เงิน)
  • ไม่ทำผิดกฎของ Upwork

การทำงานแบบ Hourly นี้ จำเป็นต้องบันทึกเวลาการทำงานด้วย Upwork Desktop App ซึ่งเมื่อเรากด ON เพื่อเริ่มบันทึกเวลาใน App นี้ ตัวเลขเวลาก็จะไปขึ้นที่หน้า Work Diary ของเราและจะขึ้นที่หน้าของ Client ด้วย ทำให้ Client สามารถเช็คได้ว่าเราทำไปกี่ชั่วโมงแล้ว

upwork-hourly-1

Upwork Desktop App นี้จะมีการถ่ายภาพหน้าจอเราเป็นระยะๆ ระหว่างที่เรากำลังทำงาน มีการบันทึกว่ากด keyboard ไปกี่ครั้ง คลิกเมาส์ไปกี่ครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำงานจริงๆ ไม่ได้แค่กดบันทึกเวลาแล้วไปทำอย่างอื่น ถ้าหากจะพักทานข้าว หรือเข้าห้องน้ำ หรือไปทำธุระอย่างอื่น หรือว่าทำงานจนเสร็จแล้ว ก็สามารถกดเปลี่ยนจาก ON เป็น OFF ได้เพื่อให้ App นี้หยุดบันทึกเวลาค่ะ

เราสามารถใส่เวลาเองได้ในหน้า Work Diary หรือที่เรียกว่า Add Manual Time โดย Client จะเป็นคนเลือกในระบบว่าจะให้เราใส่เวลาเองได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสัญญาแบบ Hourly จะไม่คุ้มครองถ้าหากเกิดปัญหากับ Client ในภายหลัง ดังนั้นมัฟฟินจึงไม่แนะนำให้ใส่เวลาเอง ควรบันทึกเวลาด้วย Upwork Desktop App จะดีกว่าค่ะ เพราะถ้าหากมีปัญหากับ Client เราสามารถขอให้ Upwork ช่วยได้

upwork-hourly-2

2. Fixed Price

เป็นการจ้างทำงานที่ตั้งราคาตายตัว สัญญาแบบนี้ให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อ

  • Client กดจ้าง (Hire) เรา
  • เรา Accept ที่จะทำงานนี้
  • เราทำงานตรงตาม milestone ทุกอย่าง
  • ส่งงานตรงเวลา

เมื่อ Client กดจ้างเรา จะมีการแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาและจะแจ้งเตือนไปที่อีเมล์ของเราด้วย เราต้องเข้าไปกด Accept เพื่อตกลงที่จะทำงานนี้ แล้วสัญญาจึงจะเริ่มคุ้มครอง จากนั้นเราจึงเริ่มทำงาน

Client อาจจะกำหนด milestone หลาย milestone ให้เรา เมื่อเราทำงานเสร็จในแต่ละ milestone ก็กด Submit งานที่เสร็จเพื่อส่งให้ Client รีวิว เมื่อ Client โอเคก็จะกดจ่ายเงินมาให้เราค่ะ แต่ถ้า Client ไม่ยอมรับงานของเราทั้งๆที่เราทำงานตรงตาม milestone ทุกอย่าง หรือ Client หายไป ไม่ยอมจ่ายเงิน เราก็สามารถขอให้ Upwork มาช่วยจัดการได้

มัฟฟินเองก็ยังไม่เคยเจอกรณีที่ Client โกงสักที เคยเจอแต่จ่ายเงินช้า ต้องทวงกันหลายรอบ ถ้ามีโอกาส มัฟฟินจะมาบอกวิธี request ให้ทาง Upwork มาช่วยในกรณีที่เจอเหตุการณ์ Client ไม่ยอมจ่ายเงินนะคะ

upwork-hourly-3

อ้อ เกือบลืม สิ่งสำคัญที่อยากจะเตือนเพื่อนๆ *** ห้ามทำงานโดยใช้สัญญาใจ หรือทำงานตามคำขอโดยที่ไม่มีการกดจ้างเราในระบบเด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกนี้จะหลอกให้เราทำงานฟรี และเราจะไม่สามารถขอให้ Upwork มาช่วยได้เลยค่ะ

การทำงานออนไลน์บน Upwork ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆฟรีแลนเซอร์ทุกคนนะคะ สำหรับบทความถัดไปเป็นเรื่องของการบันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App เพื่อนๆสามารถติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ

3 วิธีหาเงินออนไลน์

ยุคนี้เป็นยุคที่คนทั่วโลกต่างทำงานกันผ่านโลกออนไลน์ เหตุผลหนึ่งก็คงเพราะความสะดวกในการจัดสรรเวลาและสถานที่ทำงานของตัวเองได้นั่นเอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเองต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อทำงานและสร้างรายได้บนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการที่มีเงินไม่พอใช้หรือสาเหตุจากความต้องการทำงานอิสระก็ตามที

ในปัจจุบันดูเหมือนว่าใครๆก็มีงานพิเศษหรือธุรกิจส่วนตัวในโลกออนไลน์เพื่อหารายได้เสริมกันทั้งนั้น แต่ก็ยังคงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่ามีงานหรือธุรกิจออนไลน์อะไรที่ทำเงินให้เราได้บ้าง วันนี้มัฟฟินจะมาไขข้อข้องใจให้ทุกๆท่านได้ทราบว่าจะหาเงินออนไลน์ได้อย่างไร

มัฟฟินได้แบ่งวิธีหาเงินออนไลน์ออกเป็น 3 วิธีกว้างๆดังนี้ค่ะ

หาเงินออนไลน์

วิธีที่ 1 ขายของออนไลน์

หลายต่อหลายคนร่ำรวยมาจากการขายของออนไลน์นี่แหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขายผ่านทาง website , facebook, instagram, Line หรืออื่นๆ

การขายของออนไลน์ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า โทรศัพท์ พาวเวอร์แบงค์ ฯลฯ อย่างที่เราเห็นกันเท่านั้น แต่ยังมีคอร์สอบรมต่างๆ ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ และงานกราฟฟิคอีกด้วย

สำหรับภาพถ่าย คลิปวีดีโอ และงานกราฟฟิคนั้น เราสามารถนำไปขายได้ตามเว็บขายภาพออนไลน์ อย่าง shutterstock , istockphoto , 123rf เป็นต้น คุณผู้อ่านสามารถ search ผ่านทาง google เพื่อค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับการขายภาพออนไลน์ได้ เนื่องจากมีผู้เขียนหลายท่านได้เขียนเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว

วิธีที่ 2 ให้บริการออนไลน์

มีหลายคนและหลายบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการออนไลน์ และมีรายได้มากมายจากบริการนี้ ทั้งรายได้จากค่าบริการเองและค่าโฆษณา ตัวอย่างบริการออนไลน์ก็อย่างเช่น

  • web hosting ที่บริการให้เช่าพื้นที่ทำเว็บไซต์
  • คลิปวีดีโอ ผ่านทาง youtube และอื่นๆที่คล้ายกัน ในรูปแบบของการสอนภาษา สอนแต่งภาพ หรืออื่นๆ
  • บริการตัวกลางในการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น paypal เป็นต้น
  • บริการตัวกลางในการขายสินค้า เช่น Amazon , Alibaba, Kaidee เป็นต้น

วิธีที่ 3 ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์

ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นกำลังเริ่มแพร่หลายในประเทศไทยค่ะ แต่ในต่างประเทศนั้นเขานิยมกันมานานแล้ว การจะทำงานประเภทนี้ได้เราจำเป็นจะต้องมีความรู้พอสมควร ตัวอย่างงานของฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นมีหลากหลายประเภทมาก ทั้งงานเขียนโปรแกรม งานออกแบบ งานเลขา งานแปล งานกราฟฟิค และอื่นๆอีกมากมาย ขอเพียงคุณมีความรู้ก็หางานได้ไม่ยาก

หวังว่าทุกท่านจะได้ไอเดียเพื่อหาเงินออนไลน์นะคะ คุณผู้อ่านสามารถเลือกอ่านบทความของมัฟฟินเพิ่มเติมได้จากหน้า สารบัญ ค่ะ