ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 7 คุณสมบัติไม่ผ่าน จะหางานได้ยังไง

หลายคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานบน Upwork ใหม่ๆคงจะสังเกตเห็นว่า มีงานบางงานที่ระบุคุณสมบัติของ Freelancer ที่ต้องการเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งเพื่อนๆอาจจะไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้น ทำให้สมัครไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับ หรือสมัครไปแล้วเสีย connects เปล่าๆเพราะ Client ไม่พิจารณาใบสมัคร จนทำให้หลายคนท้อใจไปตามๆกัน

คุณสมบัติหลักๆที่ Freelancer หน้าใหม่ไม่ผ่านกัน มีดังนี้

  • Job Success Score
  • English Level
  • Upwork Hours
  • Rising Talent
upwork-prefered-qualifications-1

คราวนี้ลองมาดูกันว่าแต่ละอย่างคืออะไร และจะทำอย่างไรให้คุณสมบัติของเราผ่านเกณฑ์ได้บ้าง

Job Success Score

Job Success Score หรือ คะแนนการทำงานสำเร็จ เป็นตัววัดผลงานและสะท้อนประวัติการทำงานของเราบน Upwork โดยมีพื้นฐานจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง ซึ่งมีวิธีคำนวณกว้างๆดังนี้

(ผลงานดี - ผลงานที่ไม่ดี) / ผลงานทั้งหมด

upwork-prefered-qualifications-2

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคะแนน Job Success Score นั้นมีพื้นฐานมาจากหลายองค์ประกอบ ทั้ง feedback จาก Client, การจ้างงานซ้ำจาก Client ที่เคยจ้าง, งานที่สำเร็จ และอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ถ้า Client คนเดิมกลับมาจ้างเราอีกครั้ง คะแนนเราก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ, feedback ที่นำมาคำนวณ ก็จะพิจารณาหลายๆอย่าง ถ้า Client มีประวัติไม่ดี แต่เราดีมาโดยตลอด ก็จะไม่เอา Client นี้มาคำนวณ เป็นต้น

ในส่วนของการคำนวณที่ละเอียดนั้น Upwork ไม่เปิดเผยให้ทราบ เพราะเกรงว่าถ้าเปิดเผยไปแล้วจะมีฟรีแลนเซอร์บางกลุ่มไปปั่นคะแนนตัวเองให้สูงขึ้น

Upwork จะ update คะแนนนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่จะมีการคำนวณคะแนนตลอดในช่วงระยะเวลา 24 เดือน เป้าหมายของเราคือพยายามรักษาคะแนนนี้ให้เกิน 90% โดย

  • ทำงานให้สำเร็จและเรียบร้อย
  • ส่งงานให้ตรงเวลา
  • ถ้าคิดว่าจะส่งไม่ทันก็อย่ารับงานนั้น
  • สื่อสารกับ Client ตลอด อย่าหายตัว ถ้ามีจะทำธุระแล้วไม่สะดวกตอบก็บอก Client ไว้ก่อน
  • ทำงานให้ Client ประทับใจจนกลับมาจ้างเราอีก

English Level

English Level หรือ ระดับภาษาอังกฤษ เป็นตัวบ่งบอกว่าระดับภาษาอังกฤษของเราอยู่ในระดับใด ถ้าเราไม่ใช่เจ้าของภาษา Upwork ก็จะวัดเราโดยการให้ทำแบบทดสอบ เพื่อนๆสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ฟรี โดยคลิกที่ Test บนแท็บเมนูด้านบน

upwork-prefered-qualifications-3

จะเห็นว่ามีแบบทดสอบให้เลือกทำมากมาย เพื่อนๆสามารถเลือกทำแบบทดสอบได้ทันที โดยปกติแล้วแบบทดสอบภาษาอังกฤษจะมีประมาณ 40 ข้อ และให้ใช้เวลาในการทำ 40 นาทีค่ะ

upwork-prefered-qualifications-4

ถ้าทำแบบทดสอบไม่ผ่าน เพื่อนๆสามารถกลับไปทำซ้ำอีกได้ในอีก 1 เดือนหลังจากที่ได้ทำครั้งล่าสุดไปแล้ว สิ่งสำคัญคือเพื่อนๆควรทำแบบทสอบด้วยตัวเอง ห้ามลอก ห้ามถาม ห้ามเผยแพร่แบบทดสอบโดยเด็ดขาดค่ะ นี่เป็นข้อห้ามที่สำคัญของ Upwork เลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนนำไปเผยแพร่อยู่ดี อย่างไรก็ตามมัฟฟินก็อยากจะให้เราซื่อสัตย์ต่อตัวเราเอง เพราะเมื่อเราทำเองและทำผิด เราก็จะได้รู้และนำไปแก้ไขปรับปรุงทักษะของเราให้ดีขึ้น ดังนั้นคนที่จะได้ประโยชน์ในระยะยาวก็คือตัวเราเองค่ะ

Upwork Hours

ปัญหาเรื่อง Upwork Hours นั้นเป็นเรื่องของชั่วโมงทำงานน้อย หรือไม่มีเลย (หมายถึงชั่วโมงทำงานแบบ Hourly) ฟรีแลนเซอร์หลายๆคนอาจจะทำงานแบบ Fixed Price จึงทำให้ไม่มีชั่วโมงทำงานแบบ Hourly หรืออาจจะมีน้อย ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ Client บางรายตั้งไว้

วิธีทำให้ชั่วโมงทำงานมีเพิ่มมากขึ้นก็คงต้องเป็นการรับงานแบบ Hourly ที่เป็นงานที่เราสามารถทำได้ ซึ่งบางงานอาจจะไม่ใช่งานในสายหลักที่เราทำ ตัวอย่างเช่น งานหลักที่เราทำเป็นงานแปล แต่เรารับงานเป็น Personal / Virtual Assistant แบบรายชั่วโมงที่เนื้องานนั้นเราสามารถทำได้ หรือจะหางานสายหลักของเราที่เป็นแบบ Hourly ทำ เพื่อสะสมชั่วโมงการทำงานของเราให้สามารถสมัครงานหลักที่ต้องการคนที่มีคุณสมบัติ Upwork Hours ผ่านเกณฑ์ได้ เป็นต้น

upwork-prefered-qualifications-5

Rising Talent

Rising Talent เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า Freelancer แต่ละคนมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในสายของของตนเองมากเพียงใด

เราจะได้ Rising Talent ก็ต่อเมื่อ

  • กรอกข้อมูลใน Profile ครบถ้วน ทั้งข้อมูลการศึกษา การทำงาน การทดสอบภาษาอังกฤษ
  • ให้คะแนนในทางบวกกับ Client
  • Update เวลาว่างที่จะทำงาน (availability status) เสมอ
  • ยื่น proposal สมัครงานอย่างสม่าเสมอ

รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปปรับใช้กันนะคะ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ถ้าเพื่อนๆลองนำไปปรับใช้ดู มัฟฟินคิดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการทำงานออนไลน์บน Upwork ได้อย่างแน่นอนค่ะ

บทความหน้าเป็นเรื่องของ Top Rated Freelancer อย่าลืมติดตามกันนะคะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 6 บันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App

หลังจากที่เราได้รู้ว่า Hourly กับ Fixed Price ต่างกันอย่างไรแล้ว บทความนี้มัฟฟินจะมาแนะนำวิธีบันทึกเวลาทำงานแบบรายชั่วโมง (Hourly) ผ่าน  Upwork Desktop App ค่ะ

ดาวน์โหลด App

คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการทำงานบน Upwork แบบ Hourly นั้นจำเป็นต้องมีการบันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App ซึ่งเป็นโปรแกรม หรือ แอพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ของเรา ถ้ายังไม่ได้ดาวน์โหลดไว้ เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดจากใน Upwork ได้เลยค่ะ ลิงค์สำหรับดาวน์โหลดจะอยู่ในหน้าแรกหลังจากที่เพื่อนๆ log in เข้าไป โดยจะอยู่ทางขวามือที่เขียนว่า "Track time with the desktop app" มีรูปนาฬิกาอยู่ข้างหน้า และเมื่อคลิกเข้าไปแล้วก็จะลิงค์มาที่ www.upwork.com/downloads

upwork-desktop-app-1
upwork-desktop-app-2

เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้วก็ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ได้เลยค่ะ ภาพข้างล่างคือหน้าตาของโปรแกรมหลังจากที่เราติดตั้งเสร็จแล้ว

upwork-desktop-app-3

คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญในการทำงานแบบ Hourly แล้วค่ะ นั่นคือการบันทึกเวลาการทำงานของเราซึ่งมีวิธีทำดังนี้

วิธีบันทึกเวลา

  1. เปิด Upwork Desktop App ขึ้นมา
  2. log in โดยใช้บัญชีเดียวกับที่เรา log in บนเว็บไซต์
  3. เลือก Contract ที่จะบันทึกเวลาทำงาน
  4. คลิก ON เพื่อเริ่มบันทึกเวลา
  5. คลิกที่ "What are you working on?" เพื่อใส่คำอธิบายสั้นๆว่าเราทำอะไร
  6. เริ่มทำงาน
  7. เมื่อพัก หรือ ทำงานเสร็จ ให้คลิก OFF เพื่อหยุดการบันทึกเวลา

Upwork Desktop App ทำอะไรบ้าง?

  • บันทึกเวลา
  • สุ่มถ่ายภาพหน้าจอขณะทำงานเป็นช่วงๆ (ประมาณชั่วโมงละ 6 ครั้ง)
  • บันทึกจำนวนครั้งที่คลิกเมาส์/เลื่อนเมาส์/กดคีย์บอร์ด

ทุกอย่างที่ app นี้บันทึกไว้จะถูก Upload ขึ้นไปยังเว็บไซต์ Upwork โดยสามารถดูได้ใน Work Diary อย่างไรก็ตามเพื่อนๆสามารถแก้ไขคำอธิบายสั้นๆได้ และยังสามารถลบภาพได้ด้วย แต่การลบภาพที่ถ่ายหน้าจอนั้นจะเป็นการลบช่วงเวลาการทำงานช่วงดังกล่าวไปด้วย หมายความว่าช่วงเวลาที่ถูกลบไปจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นค่าจ้าง

จบบทความแล้วเพื่อนๆฟรีแลนเซอร์ทุกคนอย่าลืมนำไปใช้นะคะ บทความหน้าเป็นตอนที่ 7 คุณสมบัติไม่ผ่าน จะหางานได้ยังไง เพื่อนๆสามารถติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ ขอบคุณที่ติดตามบล็อกของมัฟฟินนะคะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 5 Hourly vs Fixed Price

หลังจากที่เพื่อนๆได้ศึกษาบทความ"ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal" ไปแล้ว เพื่อนๆอาจจะสงสัยว่า Hourly กับ Fixed Price คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ค่ะ

คงเป็นเรื่องปกติที่เวลาเรารับทำงานออนไลน์ เรามักจะกังวลว่าเราจะได้รับค่าจ้างจริงหรือเปล่า เราจะโดนโกงไหม ถ้าหากนายจ้างไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ เราจะฟ้องร้องได้ยังไงบ้าง

เมื่อเรามารับทำงานบน Upwork เราจะสบายใจเรื่องนี้ได้บ้าง เพราะ Upwork มีระบบที่มีการคุ้มครองฝั่งฟรีแลนเซอร์อย่างเราๆด้วยสัญญาในการทำงาน 2 แบบที่ผูกมัดระหว่างนายจ้าง (Client) กับฟรีแลนเซอร์คือ

1. Hourly

เป็นการจ้างทำงานรายชั่วโมง สัญญาแบบนี้จะให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อ

  • Client กดจ้าง (Hire) เรา
  • เรา Accept ที่จะทำงานนี้
  • เราใช้ Upwork Desktop App ในการบันทึกเวลาการทำงาน
  • ไม่ใส่เวลาเอง หรือที่เรียกว่า ;Add Manual Time แม้ว่า Client จะอนุญาตให้ทำได้
  • เราทำงานจริง โดยจะเห็นได้จาก Work Diary
  • เราเขียนคำอธิบายสั้นๆและได้ใจความใน Work Diary ว่าทำอะไรบ้าง
  • จำนวนชั่วโมงไม่เกินลิมิตรายสัปดาห์ในสัญญา (ชั่วโมงส่วนเกินก็จะไม่ได้เงิน)
  • ไม่ทำผิดกฎของ Upwork

การทำงานแบบ Hourly นี้ จำเป็นต้องบันทึกเวลาการทำงานด้วย Upwork Desktop App ซึ่งเมื่อเรากด ON เพื่อเริ่มบันทึกเวลาใน App นี้ ตัวเลขเวลาก็จะไปขึ้นที่หน้า Work Diary ของเราและจะขึ้นที่หน้าของ Client ด้วย ทำให้ Client สามารถเช็คได้ว่าเราทำไปกี่ชั่วโมงแล้ว

upwork-hourly-1

Upwork Desktop App นี้จะมีการถ่ายภาพหน้าจอเราเป็นระยะๆ ระหว่างที่เรากำลังทำงาน มีการบันทึกว่ากด keyboard ไปกี่ครั้ง คลิกเมาส์ไปกี่ครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำงานจริงๆ ไม่ได้แค่กดบันทึกเวลาแล้วไปทำอย่างอื่น ถ้าหากจะพักทานข้าว หรือเข้าห้องน้ำ หรือไปทำธุระอย่างอื่น หรือว่าทำงานจนเสร็จแล้ว ก็สามารถกดเปลี่ยนจาก ON เป็น OFF ได้เพื่อให้ App นี้หยุดบันทึกเวลาค่ะ

เราสามารถใส่เวลาเองได้ในหน้า Work Diary หรือที่เรียกว่า Add Manual Time โดย Client จะเป็นคนเลือกในระบบว่าจะให้เราใส่เวลาเองได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสัญญาแบบ Hourly จะไม่คุ้มครองถ้าหากเกิดปัญหากับ Client ในภายหลัง ดังนั้นมัฟฟินจึงไม่แนะนำให้ใส่เวลาเอง ควรบันทึกเวลาด้วย Upwork Desktop App จะดีกว่าค่ะ เพราะถ้าหากมีปัญหากับ Client เราสามารถขอให้ Upwork ช่วยได้

upwork-hourly-2

2. Fixed Price

เป็นการจ้างทำงานที่ตั้งราคาตายตัว สัญญาแบบนี้ให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อ

  • Client กดจ้าง (Hire) เรา
  • เรา Accept ที่จะทำงานนี้
  • เราทำงานตรงตาม milestone ทุกอย่าง
  • ส่งงานตรงเวลา

เมื่อ Client กดจ้างเรา จะมีการแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาและจะแจ้งเตือนไปที่อีเมล์ของเราด้วย เราต้องเข้าไปกด Accept เพื่อตกลงที่จะทำงานนี้ แล้วสัญญาจึงจะเริ่มคุ้มครอง จากนั้นเราจึงเริ่มทำงาน

Client อาจจะกำหนด milestone หลาย milestone ให้เรา เมื่อเราทำงานเสร็จในแต่ละ milestone ก็กด Submit งานที่เสร็จเพื่อส่งให้ Client รีวิว เมื่อ Client โอเคก็จะกดจ่ายเงินมาให้เราค่ะ แต่ถ้า Client ไม่ยอมรับงานของเราทั้งๆที่เราทำงานตรงตาม milestone ทุกอย่าง หรือ Client หายไป ไม่ยอมจ่ายเงิน เราก็สามารถขอให้ Upwork มาช่วยจัดการได้

มัฟฟินเองก็ยังไม่เคยเจอกรณีที่ Client โกงสักที เคยเจอแต่จ่ายเงินช้า ต้องทวงกันหลายรอบ ถ้ามีโอกาส มัฟฟินจะมาบอกวิธี request ให้ทาง Upwork มาช่วยในกรณีที่เจอเหตุการณ์ Client ไม่ยอมจ่ายเงินนะคะ

upwork-hourly-3

อ้อ เกือบลืม สิ่งสำคัญที่อยากจะเตือนเพื่อนๆ *** ห้ามทำงานโดยใช้สัญญาใจ หรือทำงานตามคำขอโดยที่ไม่มีการกดจ้างเราในระบบเด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกนี้จะหลอกให้เราทำงานฟรี และเราจะไม่สามารถขอให้ Upwork มาช่วยได้เลยค่ะ

การทำงานออนไลน์บน Upwork ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆฟรีแลนเซอร์ทุกคนนะคะ สำหรับบทความถัดไปเป็นเรื่องของการบันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App เพื่อนๆสามารถติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal สมัครทำงานบน Upwork

เมื่อเราคัดกรองงานและคนจ้าง (Client) จากในบทความที่แล้วในหัวข้อ ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 3 งานดี คนจ้างเด่น เน้นสบายใจได้แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้อง "Submit a Proposal" กันเสียที

การ Submit a Proposal ก็คือการยื่นใบสมัครนั่นเองค่ะ เมื่อเรายื่นใบสมัครแล้วเราก็จะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกของ Client เพราะยังมีคู่แข่งที่สมัครงานเดียวกับเราอีก ดังนั้นถ้าเราเขียนแนะนำตัวได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้ทำงานชิ้นนั้น จะว่าไปก็เหมือนกับการสมัครงานเลยเนอะ

วิธีการสมัครทำงานบน Upwork

จากตัวอย่างในภาพข้างล่าง ฝั่งขวามือ จะเห็นว่าในการสมัครนี้เราจะต้องใช้ 2 Connects การสมัครแต่ละงานอาจใช้ Connects ไม่เท่ากัน โดยปกติจะใช้ตั้งแต่ 1-5 Connects

Connects คืออะไร?

Connects คือ คะแนนหรือแต้มแบบหนึ่ง ซึ่งเราจะได้เป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 60 แต้ม (หรือ 60 Connects) เอาไว้ใช้ในการสมัครทำงานบน Upwork ถ้าหากอยากจะได้มากกว่า 60 Connects ก็ต้อง Upgrade เป็นสมาชิกแบบ Freelancer Plus ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10 เหรียญ โดยเราจะได้ 70 Connects ถ้าใช้ไม่หมดก็ทบไปเดือนหน้าได้ แล้วก็ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกเช่น ซื้อ Connects เพิ่มได้ ดูราคาประมูลโปรเจคของคู่แข่งได้ เป็นต้น

upwork-proposal-1

จริงๆแล้วมัฟฟินไม่แนะนำให้เพื่อนๆเสียเงินในส่วนนี้ เพราะมัฟฟินคิดว่าการเป็นสมาชิกแบบธรรมดาก็เพียงพอที่จะสร้างรายได้บน Upwork แล้ว แต่ถ้าใครคิดว่าการจ่ายเงินเดือนละ 10 เหรียญนั้นคุ้มค่าก็สามารถ Upgrade ได้โดยเข้าไปที่ Setting >> Membership & Connects >> View or edit membership plan ค่ะ

upwork-connects

มาต่อเรื่องการยื่นใบสมัครค่ะ เมื่อเราตัดสินใจที่จะสมัครทำงานนี้แล้ว ก็คลิกยื่นใบสมัครได้เลยที่ปุ่ม "Submit a Proposal" จากนั้นเราก็จะเจอหน้าจอแบบภาพข้างล่างนี้ค่ะ

เราจะต้องเสนอราคาค่าแรงเรา (หรือประมูลราคาของโปรเจคนี้นั่นเอง) โดยปกติจะตั้งราคาไม่เกินงบ (Budget) ของ Client แต่ถ้าในรายละเอียดที่ Client โพสท์นั้นระบุว่าเขาตั้งงบคร่าวๆ ซึ่งต่ำมากๆ เช่น 5$ และอนุญาตให้ฟรีแลนเซอร์สามารถบอกราคาค่าแรงไปได้เลย เราก็สามารถระบุตรงนี้ได้เลยค่ะ

**Upwork จะหักค่า service fee อีก 20% นะคะ เงินที่เราจะได้จริงคือเงินในช่องที่สาม ซึ่งในที่นี้เป็น 360$ ค่ะ ตรงนี้ระบบจะคำนวณให้เองอัตโนมัติ

upwork-proposal-2

จากนั้นเพื่อนๆสามารถเลือกระยะเวลาการส่งงานว่าจะเสร็จภายในประมาณกี่วัน กี่เดือน เลือกตามความเหมาะสมของงานนั้นๆนะคะ

upwork-proposal-2

ได้เวลาเขียน Cover Letter แล้ว

ตรงนี้คือส่วนที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวบ่งบอกว่าเรามีโอกาสได้งานมากน้อยแค่ไหน อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆอย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะ การเขียน Cover Letter ไม่ได้ยากมากมายอะไร มัฟฟินมีตัวอย่างมาให้ดูด้วยค่ะ เพื่อนๆสามารถปรับให้เป็นแบบของตัวเองได้ ตัวอย่างนี้มัฟฟินก็เอาของคนอื่นมาปรับเหมือนกัน ฮ่าๆๆ

Cover Letter เป็นส่วนของการแนะนำตัว บรรยายสรรพคุณตัวเองค่ะ แต่ต้องทำให้ดูพอดีพองาม ไม่โอเวอร์จนเกินไป ที่สำคัญอย่าลืมเช็คให้ดีว่าใน Cover letter นั้นมี 4 ส่วนต่อไปนี้ครบถ้วน

  • ทักทายอย่างมืออาชีพ เช่น Dear Mr.Tony (ถ้ารู้ชื่อ หรือเคยร่วมงานกันมาก่อน) หรือ Dear Hiring Manager ก็ดูสุภาพดี
  • เข้าประเด็น โดยบอกว่าเราสนใจในงานนี้ และมีความสามารถอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ บรรยายสรรพคุณของเราไปเลยค่ะ
  • โชว์จุดเด่น หาก Client ระบุว่าต้องการคนที่มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง(ที่คุณมี!) คุณควรจะบอกไปด้วยเลยค่ะ อย่าให้พลาด
  • ปิดการขาย บอกว่าคุณพร้อมที่จะทำงานทันทีหรือไม่ จะสามารถทำงานให้ได้สัปดาห์ละกี่ชั่วโมง พร้อมส่งงานเร็วแค่ไหน เป็นต้น

นอกจากนี้เพื่อนๆก็ยังจะต้องเช็คตัวสะกดให้ถูกต้องด้วยนะคะ เพื่อความเป็นมืออาชีพ และถ้าหาก Client ให้เราตอบคำถามก็ควรตอบให้ครบถ้วน

ทำไมต้องมีให้ครบทั้ง 4 ส่วน?

การเขียนให้น่าสนใจและมีรายละเอียดครบถ้วนเป็นการดึงดูดใจ Client ทำให้เราดูเป็นมืออาชีพ น่าเชื่อถือ และมีโอกาสได้รับงานสูงขึ้นค่ะ

upwork-proposal-3

สำหรับงานหรือโปรเจคแบบ Fixed Price (ราคาตายตัว) พอเราคลิกปุ่ม Submit แล้วจะขึ้นหน้าจอแบบข้างล่างนี้ เพื่อบอกว่ามีงานในลักษณะนี้มีสัญญาคุ้มครองค่ะ

เราก็ติ๊ก Yes,I understand แล้วคลิก Continue to Submit ก็เป็นอันเสร็จ (แต่ถ้าเป็นแบบ Hourly (รายชั่วโมง) ก็จะไม่ขึ้นแบบนี้ค่ะ แต่ก็มีสัญญาคุ้มครองเหมือนกัน)

upwork-proposal-4

จบขั้นตอนการส่งใบสมัครแล้วค่ะ ตอนนี้ก็รอการตอบกลับจาก Client แต่ถ้าหากเขาไม่ตอบกลับก็ไม่ต้องกังวลค่ะ ยังมีงานอีกหลายงานที่รอเราอยู่ ฉะนั้นในระหว่างนี้เราก็สมัครงานอื่นไปด้วยได้

ถ้าหากเพื่อนๆจะดู Proposal หรือใบสมัครที่เราส่งไปก็คลิกที่ Proposals บนแถบสีเทาด้านบนค่ะ

upwork-proposal-5

สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่ท้อใจเรื่องภาษาอังกฤษ ก็อย่าลืมหาเวลาไปฝึกฝนนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆค่ะ ในบทความต่อไป มาทำความรู้จักกับงานแบบ Hourly กับ Fixed Price กันค่ะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 3 งานดี คนจ้างเด่น เน้นสบายใจ

หลังจากที่เราได้เรียนรู้การสร้างโปรไฟล์เบื้องต้นกันไปแล้ว ในบทความนี้มัฟฟินจะมาบอกถึงวิธีการค้นหางานที่เราสนใจ และวิธีเลือก Client (ผู้จ้าง) ที่ดีๆค่ะ

อันดับแรกหางานที่สนใจก่อน แล้วจากนั้นจึงมาคัดกรองหา Client ดีๆทีหลังค่ะ เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย...

เมื่อเรา log in เข้ามาแล้วจะเจอหน้าจอแบบนี้

upwork-search-1

จะเห็นว่าตรงด้านบนของหน้าจอมีช่อง Search for Jobs ไว้สำหรับให้ค้นหาค่ะ เพื่อนๆสามารถพิมพ์คีย์เวิร์ดลงในช่องนั้นเพื่อค้นหางานหรือโปรเจคที่สนใจได้เลย

ในตัวอย่างนี้มัฟฟินต้องการทำงานเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมภาษา php จึงใช้คำว่า php ในการค้นหา

upwork-search-2

จากนั้นเราจะเห็นผลการค้นหาที่เกี่ยวกับ php ขึ้นมามากมาย เพื่อนๆสามารถกรองหางานเฉพาะที่สนใจจากแถบด้านซ้ายมือได้ โดยเลือกได้ว่าจะกรองเฉพาะงานที่เป็น Hourly (จ่ายค่าแรงเป็นรายชั่วโมง) อย่างเดียว ประสบการณ์ปานกลาง หรือกรอง Client ที่มีประวัติเคยจ้างมาแล้ว 1-9 คน ก็ได้

เราจะลองเลือกตัวอย่างมาสัก 1 งานเพื่อดูรายละเอียด ในที่นี้เราเลือกลิงค์แรกที่เห็นในภาพค่ะ

upwork-search-3

จากรูปด้านล่าง

- Details เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดของงาน

- Preferred Qualifications คือคุณสมบัติที่ Client ต้องการ ในที่นี้คือต้องทำงานสำเร็จ 90% เป็นอย่างน้อย

สำหรับคนที่ไม่ถึง 90% ตรงนี้จะขึ้นเครื่องหมาย ! สีแดง ซึ่งบ่งบอกว่าไม่ควรสมัครงานนี้เพราะถึงแม้จะสมัครไป ใบสมัครก็จะถูกจัดอยู่ในโซนคุณสมบัติไม่ผ่าน ซึ่งอาจจะไม่ถูกอ่านเลย (แต่ก็มี Client บางคนที่ใจดีพิจารณาใบสมัคร และเห็นว่าโปรไฟล์ดีก็อาจจะเลือกให้เราทำงานก็ได้ (ซึ่งมีน้อยมาก))

การจะทำงานได้อย่างสบายใจนั้น เราต้องมีทั้งงานที่ดีและ Client ที่ดีค่ะ ดังนั้นคราวนี้เราจะมาดูกันว่า Client คนนี้ดีไหม น่าทำงานด้วยไหม โดยดูที่ About the Client ด้านขวามือค่ะ

วิธีเลือก Client

  • ดูว่า Client ผูกบัญชีกับ Upwork สำหรับจ่ายเงินแล้วหรือยัง โดยดูที่เครื่องหมายถูกค่ะ

ถ้าขึ้นเครื่องหมาย ? แปลว่ายังไม่ผูกบัญชี

ถ้าขึ้นเครื่องหมายถูกสีเขียว  แสดงว่าผูกบัญชีแล้ว

ตรงนี้สำคัญยังไง?...  ก็สำคัญตรงที่มันเป็นตัวบอกว่า เขาจะมีเงินจ่ายให้เราได้ทันทีที่เราทำงานเสร็จ  เราจะได้ไม่ต้องรอเงินนานเกินไปโดยไม่จำเป็น หรือไม่ต้องทำงานฟรี

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้ผูกบัตรเครดิตแล้ว พร้อมจ่ายเงินได้ทุกเมื่อค่ะ

  • ดาวของ Client ต้องเกือบ 5 ดาว

ตรงนี้คือคะแนนรีวิวโดยรวมจากคนที่เคยทำงานร่วมกับ Client คนนี้  ส่วน Feedback ของแต่ละคนที่พูดถึง Client คนนี้ ต้องเลื่อนลงไปดูข้างล่างค่ะ

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้มีคะแนนอยู่ที่ 4.94 ดาว โดยมีคนรีวิวทั้งหมด 14 คน

  • เปอร์เซ็นต์การจ้างงานต้องเยอะ

ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะแปลว่าเมื่อเขาโพสท์หาฟรีแลนเซอร์ ก็จะมีการจ้างงานเกิดขึ้นแทบทุกครั้ง ไม่ใช่มาโพสท์เล่นๆ แล้วให้เราเสียเวลาสมัครโดยที่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่จ้างใครเลย

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้มีเปอร์เซ็นต์การจ้างงานอยู่ที่ 75% ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ได้

  • ดูเงินที่จ่ายค่าจ้างไป

เป็นส่วนที่แสดงว่าเขาจ่ายจริง ไม่ได้ให้เราทำงานให้ฟรีแล้วชิ่งหนีไป

จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้ได้จ่ายเงินค่าจ้างไปแล้วทั้งหมด 6,269 ดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้เป็นค่าจ้างของฟรีแลนเซอร์ทั้งหมด 131 คนค่ะ

upwork-search-4

พอเลื่อนลงมาจะเป็นส่วนของ Review และ Feedback ที่ฟรีแลนเซอร์ที่เคยร่วมงานกับ Client คนนี้ให้ไว้ ตรงนี้บอกเราได้พอสมควรเกี่ยวกับ Client ว่าดีหรือไม่ บางคนเขียน Feedback ได้ดุเดือดมาก ถ้าเจอ Feedback ที่ไม่ดีจากหลายๆคน เราก็ควรเลี่ยง ไม่ควรทำงานกับ Client คนนั้น

นอกจากนี้เรายังประเมินได้อีกด้วยว่า Client คนนี้ให้ Feedback กับ Freelancer แต่ละคนอย่างไรบ้าง เช่น Freelancer ให้ Feedback กับ Client คนนี้ดี ให้คะแนน Review 4-5 ดาว แต่ Client กลับให้ Feedback ไม่ดี คะแนน Review ไม่ดี ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยๆก็น่าคิด แม้ว่าเราจะมองได้ว่า Client อาจมีมาตรฐานสูง แต่ถ้าหากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเพราะเราอาจได้รับ feedback ที่ไม่ดีกลับมาซึ่งส่งผลต่อ profile ของเรา

สำหรับตัวอย่างนี้ โดยรวมแล้วถือว่า Client คนนี้ดี เราจึงตัดสินใจจะร่วมงานกับเขาค่ะ

upwork-search-5

เมื่อเราตัดสินใจจะสมัครทำงานนี้ ขั้นตอนต่อไปก็คือการ "Submit a Proposal" ซึ่งเพื่อนๆสามารถอ่านต่อได้ที่ ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal สมัครทำงานบน Upwork ค่ะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 2 สร้างโปรไฟล์เบื้องต้น

หลังจากที่เราได้สมัครเป็นฟรีแลนเซอร์กับ Upwork เพื่อจะหาเงินออนไลน์กันไปแล้ว ในบทความนี้มัฟฟินจะพาทุกคนมาสร้างโปรไฟล์กันค่ะ

ทำไมต้องสร้างโปรไฟล์ ?

  • โปรไฟล์ที่ดี สามารถดึงดูดผู้ว่าจ้าง (Client) ได้
  • เพื่อให้ผู้ว่าจ้างสามารถดูประกอบการตัดสินใจก่อนจ้างเรา
  • เพิ่มความน่าเชื่อถือ
  • การกรอกข้อมูลโปรไฟล์ให้ครบถ้วนเป็นส่วนที่ส่งผลต่อคะแนนทักษะที่เพิ่มขึ้น หรือ Rising Talent ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและเพิ่มโอกาสในการรับงานของเราอีกด้วย

เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่าโปรไฟล์มีความสำคัญมาก บทความนี้มัฟฟินจะทำให้ดูเป็นตัวอย่างนะคะ เพื่อนๆสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับความสามารถหรือความถนัดของตัวเองได้ค่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย

ใครที่ทำต่อจากบทความที่แล้วก็คลิก "Continue To Create Profile" เลยค่ะ แต่ถ้าใครเพิ่ง log in เข้ามาใหม่ ก็จะเข้ามาที่หน้า Create Your Profile อัตโนมัติตามภาพถัดไปค่ะ

upwork-register-7

1. สมมติว่าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ คุณอาจจะเลือกทำงานในกลุ่ม Web,Mobile & Software Development งานที่สนใจก็จะเป็นพวก Web Development, Mobile Development, Software Development ความถนัดในการเขียนโปรแกรมก็จะเป็นภาษาที่คุณสามารถเขียนได้ เช่น PHP, VB, HTML หรืออื่นๆ

ในส่วนนี้เป็นข้อมูลที่เราเคยกรอกเมื่อตอนสมัครซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยคลิกที่รูปดินสอสีเขียวค่ะ แต่ถ้าใครกรอกข้อมูลจนพอใจแล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป (ดูภาพด้านล่างนะคะ)

upwork-profile-1

2. ต่อไปเขาจะให้เรา Upload รูป Profile ของเราค่ะ ควรจะเป็นรูปที่เห็นหน้าเราชัดเจนที่ดูดี ดูเป็นมิตรและน่าเชื่อถือค่ะ อาจไม่ต้องถึงกับเป็นรูปถ่าย 1 นิ้ว 2 นิ้วติดบัตร แต่ขอให้ดูเป็นมืออาชีพหน่อยเท่านั้นเองค่ะ

upwork-profile-2

3. จากนั้นก็เขียนคำอธิบายลักษณะงานที่คุณทำสั้นๆ ดังภาพด้านล่างในกรอบสีแดง ซึ่งทาง Upwork ก็ได้ไกด์ตัวอย่างไว้ให้แล้ว ในที่นี้เป็น Web & Desktop Application Developer หรือถ้าคุณจะทำงานด้านการแปลภาษาไทย-จีน ก็อาจจะใส่ว่า Thai-Chinese Translator ก็ได้

ส่วนในกรอบสีเหลืองนั้นเป็นส่วนที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว เพราะเป็นส่วนที่เราจะได้โฆษณาสรรพคุณของเราว่าเก่งอะไร มีความสามารถเทพแค่ไหน ประสบการณ์แน่นปึ้กเท่าไหร่ เคยทำโปรเจคอะไรมาแล้วบ้าง คุยกับนายจ้างรู้เรื่องไหม ที่สำคัญก็คือคนที่จะจ้างเรา หรือที่เรียกว่า Client นั้นมักจะมาอ่านข้อมูลสรรพคุณของเราตรงนี้ประกอบการตัดสินใจจ้างเรานั่นเอง

ตรงกรอบนี้ Upwork ก็มีตัวอย่างการเขียนให้เราแล้ว เราก็เพียงแค่เอามาปรับให้เหมาะสมกับตัวเราเองค่ะ ดูแล้วไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ^^

upwork-profile-3

ต่อมาเป็นส่วนของการศึกษา, ประสบการณ์การทำงาน และความสามารถภาษาอังกฤษค่ะ

upwork-profile-4

4. ในส่วนของการศึกษานั้น เราสามารถเพิ่มประวัติการศึกษาได้โดยคลิกเครื่องหมาย + สีเขียวๆนั้นได้เลยค่ะ จากนั้นก็กรอกประวัติการศึกษาได้เลย เอาแค่ในระดับปริญญาก็พอนะคะ ไม่ต้องไล่มาตั้งแต่ประถมค่ะ ใครมีปริญญาตรี โท เอก ก็กรอกทีละระดับนะคะ เช่น กรอกระดับปริญญาตรีเสร็จก็คลิกที่ Save And Add More แล้วค่อยกรอกในระดับปริญญาโทค่ะ โดยต้องระบุมหาวิทยาลัย, ปีที่เริ่มเรียน - ปีที่จบ, ระดับการศึกษา

ส่วนที่วงเล็บว่า optional นั้น ไม่จำเป็นต้องกรอกก็ได้ค่ะ เมื่อกรอกเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กด Save เลยค่ะ

upwork-profile-5

5. ในส่วนของประวัติการทำงาน เราก็สามารถเพิ่มได้โดยกดเครื่องหมาย + สีเขียว เราเคยทำงานที่บริษัทอะไร อยู่ที่ไหน ตำแหน่งอะไร เริ่มทำตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ เราก็กรอกลงไปในฟอร์มนี้ได้เลย

ปล. ในภาพเป็นเพียงตัวอย่างนะคะ มัฟฟินไม่ได้ทำงานที่บริษัทนี้ค่ะ

upwork-profile-6

6. เลือกว่าระดับภาษาอังกฤษของเราอยู่ในระดับไหน

  • Basic = สื่อสารผ่านการเขียนได้
  • Conversational = พูดคุยได้รู้เรื่อง
  • Fluent = คล่องปรื๋อ
  • Native or Bilingual = เจ้าของภาษา
upwork-profile-7

7.  ตั้งค่าตัวของเรา เป็นหน่วยดอลล่าร์ต่อชั่วโมง ตรงนี้อาจจะต้องไปหาข้อมูลว่าคนอื่นๆในสายงานของคุณบน Upwork ตั้งค่าตัวประมาณเท่าไหร่  และไม่ว่าเราจะเรียกค่าตัวเท่าไหร่เราก็จะโดนหักค่า Service Fee ไปถึง 20% เลยที่เดียว (ฮือ อยากร้องไห้ T_T)

upwork-profile-8

8. เลือกว่าเราสามารถทำงานกับ Upwork ได้สัปดาห์ละกี่ชั่วโมง ถ้าคิดคร่าวๆว่าทำงาน 5 วัน วันละ 6 ชั่วโมง ก็จะเป็น 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้วนะคะสำหรับคนที่มีงานประจำ ใครขยันมาก ขยันน้อยก็ลองคำนวณและเลือกกันดูค่ะ หรือใครที่ว่างพร้อมรับงานตลอดเวลาก็เลือกเป็น As Needed ก็ได้

upwork-profile-9

9. สุดท้ายให้กรอกที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ค่ะ เบอร์โทร์ให้ใส่เป็น 66 (รหัสประเทศไทย) ตามด้วยเบอร์โทรศัพท์เราโดยตัดศูนย์ข้างหน้าออกค่ะ จากนั้นคลิกปุ่ม Review Profile & Submit ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

upwork-profile-10

ตอนต่อไปมัฟฟินจะพาไปดูวิธีการหางานและรับงานออนไลน์บน Upwork ค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ ส่วนใครที่ต้องการดูคลิปขั้นตอนการสร้างโปรไฟล์ upwork เบื้องต้นผ่านทาง youtube ก็สามารถดูได้ข้างล้างนี้เลยค่ะ

ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 1 การสมัคร

หลังจากที่เกริ่นเรื่องการ "หาเงินออนไลน์จากงานฟรีแลนซ์" ในบทความก่อนหน้านี้ไปแล้ว วันนี้เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับการทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork กันค่ะ

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า Upwork เป็นตลาดฟรีแลนเซอร์ที่ใหญ่มาก เป็นเว็บไซต์ที่รวมทั้งฟรีแลนเซอร์จากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ด้วยกัน และยังเป็นแหล่งงานออนไลน์ที่ใหญ่มากอีกด้วย งานทุกงานที่โพสท์จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทุกคนที่เข้ามาใน Upwork จะสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นคุณจะต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับอ่านเข้าใจ และเขียนสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับผู้ว่าจ้างได้ ถ้าคุณอ่านไม่รู้เรื่อง สื่อสารผ่านการเขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ โอกาสที่คุณจะได้รับงานก็จะน้อยมาก หรือต่อให้คุณได้งานนั้น คุณก็อาจจะมีปัญหาในการคุยรายละเอียดกับผู้จ้าง ส่งผลให้งานที่ทำออกมาผิดพลาดได้ และอาจไม่ได้รับค่าจ้าง

แต่อย่างไรก็ตามมัฟฟินก็มั่นใจว่าคนไทยเราอ่านเข้าใจ เขียนสื่อสารได้รู้เรื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าจะให้พูดคุยแบบ speaking อาจจะมีปัญหาเท่านั้นเอง

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มต้นหาเงินออนไลน์บน Upwork กันเลยค่ะ

การสมัครเป็นฟรีแลนเซอร์บน Upwork

1. เมื่อเราเข้ามาใน www.upwork.com แล้วเราจะเห็นมุมขวาบนของหน้าจอที่เขียนว่า "Become a Freelancer" ให้คลิกเข้าไป เพื่อสมัครเป็นฟรีแลนเซอร์ค่ะ

upwork-register-1

2. เราจะพบหน้าจอที่ให้กรอกข้อมูล เช่น ชื่อ นามสกุล อีเมล์ เป็นต้น

เมื่อเรากรอกครบถ้วนแล้ว ก็เลือกว่าเราจะรับอีเมล์ข้อมูลข่าวสารจากทาง Upwork หรือไม่ ถ้ารับก็ติ๊กช่องสี่เหลี่ยมช่องแรก ถ้าไม่รับก็ปล่อยว่างไว้ค่ะ

เราจะต้องติ๊กช่องสี่เหลี่ยมช่องที่สองเพื่อแสดงว่าเราได้อ่านและยอมรับข้อตกลง ข้อกำหนดต่างๆของทาง Upwork ค่ะ จากนั้นก็คลิกที่ปุ่มสีเขียวๆ ที่เขียนว่า "Get Started"

upwork-register-2

3. จากนั้นเราจะพบหน้าจอที่บอกว่าทาง Upwork ได้ส่งอีเมล์มาให้เราแล้วซึ่งเป็นอีเมล์ที่เรากรอกไว้ที่หน้าเมื่อกี้นั่นเอง หน้าที่ของเราก็คือ เข้าไปเช็คอีเมล์ และกดยืนยันการสมัครสมาชิกในอีเมล์ของเราค่ะ

upwork-register-3

ใครที่เช็คแล้วไม่มีอีเมล์เข้ามาก็ลองเช็คในอีเมล์ขยะดูก่อนนะคะ ถ้าหากยังไม่ได้รับอีเมล์จริงๆก็สามารถคลิกที่ "Please re-send that verification email" เพื่อให้เขาส่งอีเมล์ให้เราอีกครั้งนึงได้

เราสามารถเปลี่ยนอีเมล์ได้อีกเช่นกันค่ะ ตรงบรรทัดที่ 3 "Change email"

4. เมื่อเช็คอีเมล์แล้ว เราก็จะเห็นว่าเขาต้องการให้เรายืนยันว่าเราได้ทำการสมัครจริง โดยให้เราคลิกที่ลิงค์สีเขียวๆนั้นเลยค่ะ พอคลิกแล้วมันก็จะพาเราไปที่หน้าของ Upwork ที่บอกว่าการยืนยันของเราสมบูรณ์แล้ว

upwork-register-4

5.  ที่หน้า Upwork เขาจะให้เราเลือกว่าเราถนัดที่จะทำงานประเภทไหน เพื่อเขาจะได้แนะนำโปรเจคที่ตรงกับความถนัด หรือที่เราสนใจมาให้เราได้

upwork-register-5

เช่น งานเขียนเว็บ,App   งาน IT   งานออกแบบ  งานเขียน เป็นต้น

upwork-register-6

ในช่องที่สอง ให้เรากรอกความสามารถอื่นที่เกี่ยวข้อง กรอกอย่างน้อย 1 อย่างค่ะ แต่แนะนำว่ากรอกสัก 3-10 อย่าง ที่เกี่ยวข้องมากๆ สุดๆ จริงๆ นะคะ ในส่วนนี้สามารถแก้ไขภายหลังได้ค่ะ

และสุดท้ายที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมสามกรอบ ให้เราเลือกว่าประสบการณ์ของเราอยู่ในระดับใด โดยมีให้เลือก 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น ระดับกลาง ระดับเชี่ยวชาญ ยิ่งคุณมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งสามารถสร้างรายได้ได้มากตามไปด้วย เมื่อเลือกเสร็จแล้วก็คลิกปุ่ม "See Recommendations" เลยค่ะ

6. จากนั้นเราก็จะมายังหน้า "งานที่แนะนำตามความสามารถและความสนใจ" ของเราค่ะ เราจะกด save งานที่เราสนใจหรือไม่ก็ได้

upwork-register-7

พอมาถึงหน้านี้ก็แปลว่าเราสมัครเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ แต่เรายังไม่พร้อมที่จะทำงานออนไลน์บน Upwork นะคะ จะต้องสร้างโปรไฟล์ของเราให้เสร็จเรียบร้อยก่อน บทความหน้ามัฟฟินจะพาทุกคนมา "สร้างโปรไฟล์บน Upwork"ค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ สำหรับใครที่ต้องการดูเป็นคลิปในยูทูปก็สามารถกดดูได้ข้างล่างนี้เลยค่ะ

หาเงินออนไลน์จากงานฟรีแลนซ์

บทความที่แล้ว เราได้พูดถึงการสร้างรายได้จากการขายภาพออนไลน์ไปแล้ว บทความนี้มัฟฟินจะมาสอนหาเงินออนไลน์กับอาชีพฟรีแลนเซอร์ออนไลน์กันค่ะ

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับอาชีพฟรีแลนเซอร์กันก่อนดีกว่า

ฟรีแลนซ์ ,ฟรีแลนเซอร์ หรือ freelancer คือ คนที่มีอาชีพรับจ้างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานหรือบริษัทใด มีการจัดตารางเวลาการทำงานของตนเองอย่างอิสระ มีการส่งงานและรับเงินกันตามแต่ที่จะตกลงกับนายจ้าง

ดังนั้น ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์ ก็คือ คนที่มีอาชีพรับจ้างอิสระในโลกออนไลน์ มีการติดต่อรับงานผ่านทางเว็บไซต์หรืออีเมล์ ส่งงานผ่านอีเมล์หรือ Share Drive เช่น Google Drive , Dropbox, Wetransfer ฯลฯ ไม่มีการพบปะกันตัวต่อตัวระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และอาจมีการจ่ายเงินค่าจ้างในรูปแบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ที่รับงาน, paypal หรืออื่นๆ

ฟรีแลนซ์

หลายคนคงนึกภาพว่า การเป็นฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นทำงานสบาย แค่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมุดเล่มเล็กๆ กับดินสอ แค่นี้ก็สามารถนั่งทำงานชิลๆ ในร้านกาแฟได้สบายๆแบบสโลวไลฟ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะทำงานฟรีแลนซ์ได้นั้น คุณจะต้องมีความรู้และความถนัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากพอที่จะรับงานได้ งานประเภทนี้เป็นงานที่ต้องใช้สมองและเวลามากพอๆกับงานประจำ เพียงแต่เราสามารถเลือกเวลาทำงานเองได้ ไม่ต้องเข้างานตามเวลาของบริษัท บางทีอาชีพนี้อาจจะเหนื่อยและเครียดกว่าการทำงานประจำเสียด้วยซ้ำ

พูดแบบนี้อาจจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจกันเกินไป แต่ก็อยากให้ทุกคนคิดว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาง่ายๆ การเป็นฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นก็มีข้อดีมากมายเหมือนกัน นอกจากเรื่องของการเลือกเวลาได้เองแล้ว บางงานก็ยังทำรายได้มากกว่าการทำงานประจำเสียอีก พอนึกถึงรายได้เยอะๆแบบนี้แล้วก็คงทำให้หลายคนหายเหนื่อไปเลยใช่ไหมคะ

ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์รับงานจากที่ไหน? ยังไง?

มัฟฟินเองก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ออนไลน์ไปควบคู่กับงานประจำค่ะ โดยปกติแล้วมัฟฟินจะรับงานจากเว็บไซต์ที่ใหญ่ๆระดับโลกเพราะจะมีคนจ้างได้จากทั่วทุกมุมโลก หลายๆคนคงจะเคยได้ยิน fiverr มาบ้างใช่ไหมคะ มัฟฟินเองก็เริ่มจาก fiverr มาก่อน แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเว็บไซต์นี้ให้ราคาค่อนข้างต่ำ มัฟฟินจึงเปลี่ยนไปรับงานในเว็บไซต์ที่ใหญ่กว่าค่ะ หากคุณมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารได้เข้าใจ คุณก็สามารถรับงานในเว็บไซต์ต่อไปนี้ได้ค่ะ

  • fiverr.com
  • freelancer.com
  • upwork.com
ฟรีแลนซ์ออนไลน์

fiverr.com เป็นเว็บไซต์ที่ให้ฟรีแลนเซอร์เข้าไปโพสท์ว่าตนเองจะรับทำงานอะไรในราคาเริ่มต้นที่ 5 ดอลลาร์ โดยแต่ละโพสท์จะเรียกว่า Gig ถ้ามีคนสนใจจะจ้างเรา เขาจะทักเข้ามาในแชท เพื่อพูดคุยรายละเอียดค่ะ หรือ บางคนก็กดซื้อ(ให้เราทำงานให้)ได้เลย

งานที่แต่ละคนโพสท์ใน fiverr.com นี้มีหลากหลายมาก บางคนก็เป็นงานง่ายๆที่คนอื่นๆทำไม่ได้ เช่น แปลงไฟล์ หรือบางคนก็โพสท์รับทำอะไรแปลกๆก็มี แถมยังมีคนจ้างด้วยแฮะ

ฟรีแลนซ์ออนไลน์

freelancer.com เป็นเว็บที่ใหญ่เว็บนึงเลย แต่โดยส่วนตัวที่เจอมาคือ เว็บไซต์นี้ค่อนข้างไม่ปลอดภัย มีคนมาโพสท์ spam เยอะ และบางทีก็โพสท์เว็บไซต์อันตรายหลอกว่าจะให้แปลหน้าเว็บนั้น พอคลิกเข้าไปดูก็ติดไวรัส หรือบางทีอาจเป็นเว็บไซต์ที่แอบดักข้อมูลของเรา นอกจากนั้น freelancer.com ก็ยังไม่สามารถตั้งค่าโปรไฟล์เราให้เป็น private แบบที่ให้เฉพาะสมาชิกในเว็บไซต์เห็นได้ ทำให้เมื่อ search จาก google หรือ web browser อื่นๆ ก็สามารถเห็นข้อมูลต่างๆของเราได้ง่าย แถมยังเห็นกิจกรรมบางกิจกรรมที่เราทำบนเว็บนั้นอีกด้วย ฉะนั้นมัฟฟินก็เลยโบกมือลาเว็บไซต์นี้เพื่อไปซบอกยักษ์ใหญ่ที่เพียบพร้อมกว่าอย่าง Upwork

ฟรีแลนซ์ออนไลน์

Upwork.com เป็นเว็บไซต์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติอเมริกา เกิดจากการรวมตัวกันของเว็บไซต์ฟรีแลนเซอร์ ชั้นนำอย่าง oDesk.com กับ Elance.com

Upwork นี้มีความปลอดภัยเรื่องไวรัสและข้อมูลมากกว่า freelancer.com มาก และมีการคุ้มครองฟรีแลนเซอร์ที่เข้าไปรับงานด้วยสัญญาของทาง Upwork อีกด้วย

ข้อเสียอย่างเดียวของเว็บไซต์นี้คือ การเปลี่ยนมาเก็บค่านายหน้า (service fee) แพงมาก จากเดิมที่ 10% เป็น 20% กันเลยทีเดียวในสำหรับโปรเจ็คที่ไม่เกิน 500 เหรียญ ส่วนโปรเจ็คไหนที่เกิน 500 เหรียญก็เก็บ 10%

งานออนไลน์เป็นทางเลือกที่ทำให้เราสามารถหารายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง และนับเป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียวเพราะเราไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่ต้องลำบากเรื่องฝนฟ้าอากาศ และไม่ต้องมีเงินลงทุนหลายหมื่นบาท เพียงแค่ลงทุนความรู้ และลงแรงทำงานให้สำเร็จเท่านั้น

บทความหน้ามัฟฟินจะมาเจาะลึกรายละเอียดการทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork อย่าลืมติดตามกันนะคะ

สร้างรายได้จากการขายภาพออนไลน์

หลังจากบทความที่แล้วได้พูดถึง 3 วิธีหาเงินออนไลน์ กันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึง "การขายภาพออนไลน์" กันค่ะ

การขายภาพออนไลน์นั้นไม่ใช่ขายได้แค่ภาพถ่ายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพ vector, footage และเพลงอีกด้วย มาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่าแต่ละอย่างมีรายละเอียดอะไรบ้าง

1. ขายภาพถ่าย

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายรูป มีฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์แล้วล่ะก็ มัฟฟินอยากให้คุณนำผลงานภาพถ่ายของคุณมาสร้างรายได้ออนไลน์ค่ะ คุณสามารถส่งภาพถ่ายของคุณไปขายใน shutterstock, istockphoto, 123rf, fotolia, depositphotos ฯลฯ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดับโลกได้ โดยคุณจะต้องสมัครเป็นช่างภาพของเว็บไซต์ดังกล่าวก่อนแล้วจึงจะส่งภาพได้ บางเว็บไซต์ก็มีการตรวจรับภาพที่เข้มงวด เช่น shutterstock และ istockphoto แต่บางเว็บไซต์ก็สามารถ upload และวางขายได้ทันทีค่ะ

ถ้าคุณกำลังคิดว่าจะส่งภาพวิวทิวทัศน์ ท้องฟ้า สถานที่ท่องเที่ยว ดอกไม้ใบหญ้าแล้วล่ะก็ ช้าก่อนค่ะ เพราะภาพเหล่านี้มีคนส่งเข้าไปเยอะมาก มีโอกาสขายได้น้อย คุณควรส่งภาพประเภทครอบครัว, เพื่อนๆ, หรือคนที่กำลังทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น คุณสามารถศึกษาแนวโน้มของภาพที่มีคนต้องการเยอะหรือภาพขายดีได้จาก google มีเซียนหลายท่านได้เขียนให้ความรู้ไว้แล้วค่ะ

ขายภาพออนไลน์

2. ขายภาพ Vector

ภาพ vector คืออะไร?

ภาพ vector คือ "ภาพที่วาดจากโปรแกรม Adobe Illustrator, InkScape, CorelDraw ฯลฯ ซึ่งเป็นไฟล์ที่มีนามสกุล .ai, .drw, .cdr , .eps, .ps เป็นต้น ไฟล์ภาพประเภทนี้จะมีความละเอียดสูง ทำให้ไม่ว่าจะย่อหรือขยายขนาดภาพสักเท่าไหร่ภาพก็จะไม่แตก ภาพจะยังคมชัดเหมือนเดิม"

ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะซื้อภาพ vector เพื่อนำไปใช้ในงานออกแบบค่ะ หากเพื่อนๆคนไหนที่มีฝีมือในการวาดภาพ การออกแบบงานกราฟฟิคแบบนี้ก็อย่าพลาดโอกาสในการหาเงินออนไลน์จากภาพของคุณนะคะ

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่งภาพ vector ไปขายได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์เดียวกันกับที่คุณส่งภาพถ่ายไปขายนั่นเองค่ะ ซึ่งก็จะมี shutterstock,istockphoto, 123rf, fotolia, dreamstime ฯลฯ ภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างภาพ vector จาก shutterstock.com ค่ะ

ขายภาพ vector

3. ขาย Footage

Footage คืออะไร?

Footage คือ คลิปหรือไฟล์วีดีโอที่ถ่ายทำมาซึ่งเป็นไฟล์ต้นฉบับที่ยังไม่ได้ตัดต่อ

การทำคลิปหรือ footage ส่งวางขายนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันกับการขายภาพถ่ายค่ะ ควรส่งคลิปประเภทการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน, เด็กๆกำลังเรียนหนังสือ หรือ กำลังเล่นกัน เป็นต้น

วีดีโอคลิปถือว่าเป็น trend แห่งอนาคตเลยทีเดียวค่ะ ต่อไปนี้ภาพถ่ายจะดูธรรมดาไปเลย เพราะทุกคนจะนำเสนอเรื่องราวต่างๆผ่านคลิปวีดีโอ ถ้าจับ trend ได้คุณก็จะสามารถสร้างรายได้จากโลกออนไลน์ได้มากมายอย่างแน่นอน

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่ง footage หรือคลิปวีดีโอไปขายได้ ก็มี shutterstock,istockphoto, 123rf, fotolia, dreamstime ฯลฯ ค่ะ

ขายคลิป

4. ขายเพลง หรือ Audio

สำหรับคนที่มีฝีมือในการแต่งเพลง หรือดนตรีประกอบที่มีแบบฉบับของตนเอง ไม่ได้ก๊อปปี้ใครมาล่ะก็ อย่ารอช้าค่ะ รีบนำเพลงของคุณมาหารายได้ออนไลน์กันดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวป๊อป, ร็อค, โฟล์ก, อินดี้, คลาสสิก, แนวฟังสบาย ฯลฯ ก็สามารถส่งได้หมดค่ะ

เว็บไซต์ที่คุณสามารถส่งดนตรีประกอบไปหาเงินออนไลน์ได้ เท่าที่ทราบตอนนี้ก็มี shutterstock,istockphoto และ 123rf ค่ะ

ขายเพลง

หวังว่าบทความของมัฟฟินจะเป็นประโยชน์กับทุกคนให้มีไอเดียในการหาเงินออนไลน์กันบ้างนะคะ เพื่อนๆสามารถติดตามบทความต่อไปของมัฟฟินได้ที่ blog แห่งนี้ค่ะ

3 วิธีหาเงินออนไลน์

ยุคนี้เป็นยุคที่คนทั่วโลกต่างทำงานกันผ่านโลกออนไลน์ เหตุผลหนึ่งก็คงเพราะความสะดวกในการจัดสรรเวลาและสถานที่ทำงานของตัวเองได้นั่นเอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเองต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อทำงานและสร้างรายได้บนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการที่มีเงินไม่พอใช้หรือสาเหตุจากความต้องการทำงานอิสระก็ตามที

ในปัจจุบันดูเหมือนว่าใครๆก็มีงานพิเศษหรือธุรกิจส่วนตัวในโลกออนไลน์เพื่อหารายได้เสริมกันทั้งนั้น แต่ก็ยังคงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่ามีงานหรือธุรกิจออนไลน์อะไรที่ทำเงินให้เราได้บ้าง วันนี้มัฟฟินจะมาไขข้อข้องใจให้ทุกๆท่านได้ทราบว่าจะหาเงินออนไลน์ได้อย่างไร

มัฟฟินได้แบ่งวิธีหาเงินออนไลน์ออกเป็น 3 วิธีกว้างๆดังนี้ค่ะ

หาเงินออนไลน์

วิธีที่ 1 ขายของออนไลน์

หลายต่อหลายคนร่ำรวยมาจากการขายของออนไลน์นี่แหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขายผ่านทาง website , facebook, instagram, Line หรืออื่นๆ

การขายของออนไลน์ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า โทรศัพท์ พาวเวอร์แบงค์ ฯลฯ อย่างที่เราเห็นกันเท่านั้น แต่ยังมีคอร์สอบรมต่างๆ ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ และงานกราฟฟิคอีกด้วย

สำหรับภาพถ่าย คลิปวีดีโอ และงานกราฟฟิคนั้น เราสามารถนำไปขายได้ตามเว็บขายภาพออนไลน์ อย่าง shutterstock , istockphoto , 123rf เป็นต้น คุณผู้อ่านสามารถ search ผ่านทาง google เพื่อค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับการขายภาพออนไลน์ได้ เนื่องจากมีผู้เขียนหลายท่านได้เขียนเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว

วิธีที่ 2 ให้บริการออนไลน์

มีหลายคนและหลายบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการออนไลน์ และมีรายได้มากมายจากบริการนี้ ทั้งรายได้จากค่าบริการเองและค่าโฆษณา ตัวอย่างบริการออนไลน์ก็อย่างเช่น

  • web hosting ที่บริการให้เช่าพื้นที่ทำเว็บไซต์
  • คลิปวีดีโอ ผ่านทาง youtube และอื่นๆที่คล้ายกัน ในรูปแบบของการสอนภาษา สอนแต่งภาพ หรืออื่นๆ
  • บริการตัวกลางในการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น paypal เป็นต้น
  • บริการตัวกลางในการขายสินค้า เช่น Amazon , Alibaba, Kaidee เป็นต้น

วิธีที่ 3 ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์

ฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นกำลังเริ่มแพร่หลายในประเทศไทยค่ะ แต่ในต่างประเทศนั้นเขานิยมกันมานานแล้ว การจะทำงานประเภทนี้ได้เราจำเป็นจะต้องมีความรู้พอสมควร ตัวอย่างงานของฟรีแลนเซอร์ออนไลน์นั้นมีหลากหลายประเภทมาก ทั้งงานเขียนโปรแกรม งานออกแบบ งานเลขา งานแปล งานกราฟฟิค และอื่นๆอีกมากมาย ขอเพียงคุณมีความรู้ก็หางานได้ไม่ยาก

หวังว่าทุกท่านจะได้ไอเดียเพื่อหาเงินออนไลน์นะคะ คุณผู้อ่านสามารถเลือกอ่านบทความของมัฟฟินเพิ่มเติมได้จากหน้า สารบัญ ค่ะ