ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 9 กรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN

เมื่อเรามีรายได้เข้ามาจำนวนหนึ่งแล้ว ทาง Upwork จะให้เรากรอกแบบฟอร์มภาษีก่อนที่จะถอนเงินออกมาใช้ค่ะ เราจำเป็นต้องกรอกแบบฟอร์มภาษีนี้นะคะเพราะไม่งั้นจะถอนเงินออกมาใช้ไม่ได้ สำหรับฟรีแลนซ์ชาวไทยเราให้เลือกกรอกแบบฟอร์ม W-8BEN ค่ะ

แบบฟอร์ม W-8BEN คืออะไร

แบบฟอร์ม W-8BEN คือแบบฟอร์มสำหรับยืนยันว่าเราไม่ใช่ชาวอเมริกัน ไม่ได้ทำงานหรือทำธุรกิจในอเมริกา เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีให้อเมริกาแต่เสียในไทยแทน Upwork จะได้ไม่ต้องหักภาษีจากรายได้ของเราค่ะ

หากใครเคยขายภาพบนเว็บ photostock ต่างๆ ก็คงเคยกรอกกันมาบ้างแล้ว และใน Upwork ก็กรอกแบบเดียวกันค่ะ แต่สำหรับใครที่ไม่เคยกรอกก็มาดูไปพร้อมๆกันนะคะ

วิธีเข้าไปกรอกแบบฟอร์ม W-8BEN

ให้คลิกเข้าไปที่ Settings ซึ่งหาดูได้จากมุมขวาบนของหน้าจอตรงที่มีรูปเราอยู่ค่ะ เป็นที่เดียวกันกับตอนที่เราจะ Log out ค่ะ คลิกเข้าไปเลยแล้วจะเจอคำว่า Settings ใครงงก็ดูภาพข้างล่างเลยค่ะ

W-8BEN-upwork-1

ระบบจะมีการถาม password อีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าของบัญชีจริงๆนะ ก่อนจะเข้าไปแก้ไขข้อมูลสำคัญที่อยู่ใน Settings และอาจจะมีคำถามเพื่อความปลอดภัยอีกชั้นนึงให้เราตอบซึ่งเป็นคำถามที่เราเคยตั้งไว้นั่นแหละ

จากนั้นก็มองหาคำว่า Tax Informaion แล้วก็คลิกเข้าไปเลย

W-8BEN-upwork-2

ตัวอย่างการกรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN

ตัวอย่างนี้ใช้ได้กับ website อเมริกันทุกเว็บที่เราไปหารายได้นะคะ มีแนวทางการกรอกเหมือนกันค่ะ มัฟฟินเอาแบบฟอร์มจริงจากกรมสรรพากรของสหรัฐอเมริกามาให้ดู อันนี้เป็น Revision January 2017 นะคะ

W-8BEN-upwork-3

การกรอกแบบฟอร์มนี้จะต้องกรอกเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นนะคะ ห้ามกรอกเป็นภาษาไทย ข้อมูลที่ต้องกรอกมีดังนี้ค่ะ

Part I
  • ข้อ 1 กรอกชื่อจริง นามสกุลจริงเป็นภาษาอังกฤษ
  • ข้อ 2 กรอก Thailand
  • ข้อ 3 กรอกที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน บรรทัดแรกเป็นบ้านเลขที่ หมู่ ซอย ถนน ตำบล ส่วนบรรทัดสองเป็น อำเภอ จังหวัด รหัสไปรษณีย์ และช่อง Country ให้ใส่ Thailand
  • ข้อ 4 กรอกที่อยู่ที่สามารถส่งเอกสารได้ ถ้าเหมือนกันกับข้อ 3 ก็เว้นไว้ ไม่ต้องกรอก
  • ข้อ 5-7 เว้นไว้ ไม่ต้องกรอก
  • ข้อ 8 กรอกวันเดือนปีเกิด ให้กรอกเป็น เดือน-วัน-ปีค.ศ. เช่น ถ้าเกิดวันที่ 1 ธ.ค.2559 ก็กรอกเป็น 12-01-2016
  • W-8BEN-upwork-4
    Part II
  • ข้อ 9 กรอก Thailand
  • ข้อ 10 เว้นไว้ ไม่ต้องกรอก
  • Part III ไม่มีอะไรให้กรอก และข้างล่างสุด พิมพ์ชื่อ-นามสกุลอีกครั้งก็เป็นอันเสร็จ

    จะเห็นว่า Revision นี้จะต่างจาก Revision ก่อนคือไม่มีให้ส่วนที่ต้องติ๊กเลือก เช่น Type of beneficial owner ที่ปกติเราต้อง ติ๊ก Individual แต่ใน Revision นี้ไม่มีค่ะ

    เมื่อกรอกแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว ระบบจะอนุญาตให้ฟรีแลนเซอร์เข้าถึงเงินได้ทันที บทความหน้ามัฟฟินจะมาสอนเกี่ยวกับการถอนเงินและจะบอกด้วยว่าทางไหนดีที่สุด ติดตามอ่าน ตอนที่ 10 ช่องทางถอนเงินจาก Upwork ได้เลยค่ะ

    ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 8 Top Rated Freelancer

    พอทำงานออนไลน์กับ Upwork มาสักพัก เพื่อนๆคงจะสังเกตเห็นคนที่เป็น Top Rated Freelancer อยู่บ้างใช่ไหมคะ เพื่อนๆอาจจะอยากรู้ว่า Top rate คืออะไร ดียังไง วันนี้มัฟฟินจะพาเพื่อนๆมาทำความรู้จักกับเจ้าสิ่งนี้กันค่ะ

    Top Rate คืออะไร?

    Top Rate เป็นเครื่องมือในการคัดฟรีแลนเซอร์ว่าใครทำงานดีและโดดเด่น เมื่อคัดแล้วก็จะเปิดโอกาสให้เติบโตในสายงานของตัวเองได้มากกว่าคนอื่นๆที่ไม่ได้เป็น Top Rate

    เป็น Top Rate แล้วดียังไง?

    ปกติเมื่อ Client โพสท์โปรเจคสักโปรเจคหนึ่งก็มักจะมองหาฟรีแลนเซอร์ที่เป็น Top Rate มากกว่าฟรีแลนเซอร์ทั่วไป ดังนั้นคนที่เป็น Top Rate จึงมักจะมีโอกาสที่จะได้งานมากกว่า

    ข้อดีของการเป็น Top Rated Freelancer มีดังนี้

    • คำเชิญให้เราส่ง proposal โปรเจคต่างๆ ซึ่ง client ที่ส่งคำเชิญมานั้นมีแนวโน้มที่จะพิจารณาเราก่อนคนอื่นๆ นั่นก็แปลว่า เรามีโอกาสได้รับงาน-ได้รับเงินมากกว่าคนอื่น
    • คำแนะนำในการเขียนโปรไฟล์ให้ดีขึ้น เมื่อเขียนโปรไฟล์ได้น่าสนใจมากขึ้น client ที่เข้ามาอ่านก็จะอยากจ้างเรามากขึ้น
    • การช่วยเหลืออย่างดีเยี่ยมทั้งทางโทรศัพท์, แชท และ e-mail เมื่อมีปัญหา
    • สิทธิ์ในการเข้าร่วมในชุมชนคน Top Rate เพื่อให้เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จาก Top Rate คนอื่นๆ
    • ลบ feedback ที่ไม่ดีออกจากโปรไฟล์ได้ 1 job
    • เลือกลบดาวรีวิวที่น้อยหรือ comment ที่ไม่ดีออกไปได้

    จะเป็น Top Rate ได้อย่างไร?

    การจะเป็น Top Rate ได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

    • ทำรายได้อย่างน้อย $1,000 ในหนึ่งปีที่ผ่านมา
    • กรอกโปรไฟล์ครบถ้วน 100%
    • มี Job Success Score 90% ขึ้นไป
    • มี Rising Talent หรือ Job Success Score อย่างน้อย 90% (อย่างน้อย 13 สัปดาห์จาก 16 สัปดาห์)
    • มีความเคลื่อนไหวตลอด 3 เดือนบน Upwork (ส่ง Proposal, ตอบ chat, ทำงาน ฯลฯ)
    top-rated-freelancer-1

    รู้อย่างนี้แล้วเรามาทำตัวเราให้ติด Top Rated Freelancer กันดีกว่า โดยเริ่มจากการกรอก Profile ให้ได้ 100%

    ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าส่วนไหนให้เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่บ้าง

    • ประวัติการศึกษา +10%
    • ประสบการณ์อื่นๆ +5%
    • ประวัติการทำงาน +10% (สูงสุด30%)
    • คะแนนการทดสอบ Skill Test +10% (สูงสุด30%)
    • ใบประกาศต่างๆ +5% (สูงสุด10%)
    • ผลงานต่างๆ +5% (สูงสุด10%)

    คราวนี้มัฟฟินจะสอนกรอกในส่วนของผลงาน (Portfolio) ต่างๆและใบประกาศนียบัตร (Certificate) รวมทั้งบอกวิธีไปทำ Test เพราะในส่วนอื่นๆนั้นเราได้กรอกหมดแล้วตั้งแต่ตอนที่ 2 สร้างโปรไฟล์เบื้องต้น

    การกรอกผลงาน (Portfolio)

    ให้เพื่อนๆไปที่หน้า Profile แล้วเลื่อนลงมาหาหัวข้อ Portfolio จากนั้นคลิกที่หัวข้อดังกล่าว (หรือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆหัวข้อนั้นก็ได้) เพื่อเพิ่มผลงานที่เราเคยทำ

    top-rated-freelancer-2

    จากนั้นจะปรากฏหน้าต่างขึ้นมาให้เรากรอกข้อมูล โดยจะต้องกรอกชื่อโปรเจคที่ทำ, เลือกว่าโปรเจคนี้ทำบน upwork หรือไม่, ข้อมูลคร่าวๆของโปรเจค, เลือกประเภทของโปรเจค, วันที่ทำเสร็จ และเพิ่มรูปภาพ จากนั้นก็คลิกที่ปุ่ม Publish Project (ตัวอย่างดังภาพข้างล่าง) ในส่วน Portfolio นี้เพื่อนๆสามารถเพิ่มกี่โปรเจคก็ได้ตามใจเพื่อนๆเลย ยิ่งเยอะยิ่งดีค่ะ

    top-rated-freelancer-3

    การเพิ่ม Certificate

    ถัดมาจะเป็นส่วนของ Certifications ให้คลิกที่หัวข้อ Certifications (หรือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆหัวข้อนั้นก็ได้)

    top-rated-freelancer-4

    จากนั้นเลือกชื่อใบประกาศนียบัตรที่เคยได้รับ แต่ถ้าไม่มีใน list ให้เลือก other

    top-rated-freelancer-5

    สมมติว่าเลือก other เราจำเป็นต้องกรอกชื่อใบประกาศฯเอง โดยระบุหน่วยงานที่ออกใบประกาศฯนี้ให้เรา คำอธิบายเกี่ยวกับใบประกาศฯ วันเดือนปีที่ได้รับ จากนั้นคลิกปุ่ม Add Certification ก็เป็นอันเสร็จ ถ้าเพื่อนๆมีหลายใบก็สามารถเพิ่มได้อีกโดยทำแบบเดิมคือคลิกที่เครื่องหมายบวกข้างๆคำว่า Certifications เลือกใบประกาศฯ กรอกรายละเอียด และคลิกปุ่ม Add Certification ค่ะ

    top-rated-freelancer-6

    การทำ Tests

    ถัดมาคือการทำ Tests โดยคลิกที่หัวข้อ Tests เพื่อไปยังหน้า Skill Tests ซึ่งจะมีชุดข้อสอบต่างๆให้เราเลือกทำ มัฟฟินแนะนำให้ทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษก่อน เช่น UK English Basic Skills Test และ U.S. English Basic Skills Test เพราะงานหลายๆโปรเจคมักจะกำหนดคุณสมบัติว่ารับเฉพาะ freelancer ที่ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษของ upwork

    นอกจากนี้เพื่อนๆยังสามารถทำแบบทดสอบที่ตรงกับความสามารถของตัวเองเพิ่มได้ค่ะ

    top-rated-freelancer-7

    แบบทดสอบภาษาอังกฤษจะมีทั้งหมด 40 ข้อ เป็นแบบ multiple choice ใช้เวลาทำ 40 นาทีค่ะ

    top-rated-freelancer-8

    เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราต้องตั้งค่าให้คะแนนของเราแสดงบน Profile โดยคลิกปุ่ม YES ตรงคอลัมน์ Display on profile เมื่อคลิกแล้วปุ่ม YES จะเป็นสีเขียว ตามภาพข้างล่างค่ะ

    top-rated-freelancer-9

    ใครที่ได้คะแนนน้อยก็ไม่ต้องกังวลค่ะ (เราก็ได้น้อยเหมือนกัน ฮ่าๆๆ) เพราะเพื่อนๆสามารถกลับมาทำแบบทดสอบใหม่ได้ในอีก 30-180 วันข้างหน้าขึ้นอยู่กับแบบทดสอบแต่ละแบบค่ะ

    มัฟฟินคงต้องจบบทความนี้ไว้เท่านี้ เพราะต้องรีบไปเขียนเรื่องการกรอกแบบฟอร์มภาษี W-8BEN ต่อ อย่าลืมติดตามกันนะคะ

    ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 7 คุณสมบัติไม่ผ่าน จะหางานได้ยังไง

    หลายคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานบน Upwork ใหม่ๆคงจะสังเกตเห็นว่า มีงานบางงานที่ระบุคุณสมบัติของ Freelancer ที่ต้องการเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งเพื่อนๆอาจจะไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้น ทำให้สมัครไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับ หรือสมัครไปแล้วเสีย connects เปล่าๆเพราะ Client ไม่พิจารณาใบสมัคร จนทำให้หลายคนท้อใจไปตามๆกัน

    คุณสมบัติหลักๆที่ Freelancer หน้าใหม่ไม่ผ่านกัน มีดังนี้

    • Job Success Score
    • English Level
    • Upwork Hours
    • Rising Talent
    upwork-prefered-qualifications-1

    คราวนี้ลองมาดูกันว่าแต่ละอย่างคืออะไร และจะทำอย่างไรให้คุณสมบัติของเราผ่านเกณฑ์ได้บ้าง

    Job Success Score

    Job Success Score หรือ คะแนนการทำงานสำเร็จ เป็นตัววัดผลงานและสะท้อนประวัติการทำงานของเราบน Upwork โดยมีพื้นฐานจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง ซึ่งมีวิธีคำนวณกว้างๆดังนี้

    (ผลงานดี - ผลงานที่ไม่ดี) / ผลงานทั้งหมด

    upwork-prefered-qualifications-2

    อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคะแนน Job Success Score นั้นมีพื้นฐานมาจากหลายองค์ประกอบ ทั้ง feedback จาก Client, การจ้างงานซ้ำจาก Client ที่เคยจ้าง, งานที่สำเร็จ และอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ถ้า Client คนเดิมกลับมาจ้างเราอีกครั้ง คะแนนเราก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ, feedback ที่นำมาคำนวณ ก็จะพิจารณาหลายๆอย่าง ถ้า Client มีประวัติไม่ดี แต่เราดีมาโดยตลอด ก็จะไม่เอา Client นี้มาคำนวณ เป็นต้น

    ในส่วนของการคำนวณที่ละเอียดนั้น Upwork ไม่เปิดเผยให้ทราบ เพราะเกรงว่าถ้าเปิดเผยไปแล้วจะมีฟรีแลนเซอร์บางกลุ่มไปปั่นคะแนนตัวเองให้สูงขึ้น

    Upwork จะ update คะแนนนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่จะมีการคำนวณคะแนนตลอดในช่วงระยะเวลา 24 เดือน เป้าหมายของเราคือพยายามรักษาคะแนนนี้ให้เกิน 90% โดย

    • ทำงานให้สำเร็จและเรียบร้อย
    • ส่งงานให้ตรงเวลา
    • ถ้าคิดว่าจะส่งไม่ทันก็อย่ารับงานนั้น
    • สื่อสารกับ Client ตลอด อย่าหายตัว ถ้ามีจะทำธุระแล้วไม่สะดวกตอบก็บอก Client ไว้ก่อน
    • ทำงานให้ Client ประทับใจจนกลับมาจ้างเราอีก

    English Level

    English Level หรือ ระดับภาษาอังกฤษ เป็นตัวบ่งบอกว่าระดับภาษาอังกฤษของเราอยู่ในระดับใด ถ้าเราไม่ใช่เจ้าของภาษา Upwork ก็จะวัดเราโดยการให้ทำแบบทดสอบ เพื่อนๆสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ฟรี โดยคลิกที่ Test บนแท็บเมนูด้านบน

    upwork-prefered-qualifications-3

    จะเห็นว่ามีแบบทดสอบให้เลือกทำมากมาย เพื่อนๆสามารถเลือกทำแบบทดสอบได้ทันที โดยปกติแล้วแบบทดสอบภาษาอังกฤษจะมีประมาณ 40 ข้อ และให้ใช้เวลาในการทำ 40 นาทีค่ะ

    upwork-prefered-qualifications-4

    ถ้าทำแบบทดสอบไม่ผ่าน เพื่อนๆสามารถกลับไปทำซ้ำอีกได้ในอีก 1 เดือนหลังจากที่ได้ทำครั้งล่าสุดไปแล้ว สิ่งสำคัญคือเพื่อนๆควรทำแบบทสอบด้วยตัวเอง ห้ามลอก ห้ามถาม ห้ามเผยแพร่แบบทดสอบโดยเด็ดขาดค่ะ นี่เป็นข้อห้ามที่สำคัญของ Upwork เลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนนำไปเผยแพร่อยู่ดี อย่างไรก็ตามมัฟฟินก็อยากจะให้เราซื่อสัตย์ต่อตัวเราเอง เพราะเมื่อเราทำเองและทำผิด เราก็จะได้รู้และนำไปแก้ไขปรับปรุงทักษะของเราให้ดีขึ้น ดังนั้นคนที่จะได้ประโยชน์ในระยะยาวก็คือตัวเราเองค่ะ

    Upwork Hours

    ปัญหาเรื่อง Upwork Hours นั้นเป็นเรื่องของชั่วโมงทำงานน้อย หรือไม่มีเลย (หมายถึงชั่วโมงทำงานแบบ Hourly) ฟรีแลนเซอร์หลายๆคนอาจจะทำงานแบบ Fixed Price จึงทำให้ไม่มีชั่วโมงทำงานแบบ Hourly หรืออาจจะมีน้อย ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ Client บางรายตั้งไว้

    วิธีทำให้ชั่วโมงทำงานมีเพิ่มมากขึ้นก็คงต้องเป็นการรับงานแบบ Hourly ที่เป็นงานที่เราสามารถทำได้ ซึ่งบางงานอาจจะไม่ใช่งานในสายหลักที่เราทำ ตัวอย่างเช่น งานหลักที่เราทำเป็นงานแปล แต่เรารับงานเป็น Personal / Virtual Assistant แบบรายชั่วโมงที่เนื้องานนั้นเราสามารถทำได้ หรือจะหางานสายหลักของเราที่เป็นแบบ Hourly ทำ เพื่อสะสมชั่วโมงการทำงานของเราให้สามารถสมัครงานหลักที่ต้องการคนที่มีคุณสมบัติ Upwork Hours ผ่านเกณฑ์ได้ เป็นต้น

    upwork-prefered-qualifications-5

    Rising Talent

    Rising Talent เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า Freelancer แต่ละคนมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในสายของของตนเองมากเพียงใด

    เราจะได้ Rising Talent ก็ต่อเมื่อ

    • กรอกข้อมูลใน Profile ครบถ้วน ทั้งข้อมูลการศึกษา การทำงาน การทดสอบภาษาอังกฤษ
    • ให้คะแนนในทางบวกกับ Client
    • Update เวลาว่างที่จะทำงาน (availability status) เสมอ
    • ยื่น proposal สมัครงานอย่างสม่าเสมอ

    รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปปรับใช้กันนะคะ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ถ้าเพื่อนๆลองนำไปปรับใช้ดู มัฟฟินคิดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการทำงานออนไลน์บน Upwork ได้อย่างแน่นอนค่ะ

    บทความหน้าเป็นเรื่องของ Top Rated Freelancer อย่าลืมติดตามกันนะคะ

    ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 6 บันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App

    หลังจากที่เราได้รู้ว่า Hourly กับ Fixed Price ต่างกันอย่างไรแล้ว บทความนี้มัฟฟินจะมาแนะนำวิธีบันทึกเวลาทำงานแบบรายชั่วโมง (Hourly) ผ่าน  Upwork Desktop App ค่ะ

    ดาวน์โหลด App

    คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการทำงานบน Upwork แบบ Hourly นั้นจำเป็นต้องมีการบันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App ซึ่งเป็นโปรแกรม หรือ แอพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ของเรา ถ้ายังไม่ได้ดาวน์โหลดไว้ เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดจากใน Upwork ได้เลยค่ะ ลิงค์สำหรับดาวน์โหลดจะอยู่ในหน้าแรกหลังจากที่เพื่อนๆ log in เข้าไป โดยจะอยู่ทางขวามือที่เขียนว่า "Track time with the desktop app" มีรูปนาฬิกาอยู่ข้างหน้า และเมื่อคลิกเข้าไปแล้วก็จะลิงค์มาที่ www.upwork.com/downloads

    upwork-desktop-app-1
    upwork-desktop-app-2

    เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้วก็ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ได้เลยค่ะ ภาพข้างล่างคือหน้าตาของโปรแกรมหลังจากที่เราติดตั้งเสร็จแล้ว

    upwork-desktop-app-3

    คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญในการทำงานแบบ Hourly แล้วค่ะ นั่นคือการบันทึกเวลาการทำงานของเราซึ่งมีวิธีทำดังนี้

    วิธีบันทึกเวลา

    1. เปิด Upwork Desktop App ขึ้นมา
    2. log in โดยใช้บัญชีเดียวกับที่เรา log in บนเว็บไซต์
    3. เลือก Contract ที่จะบันทึกเวลาทำงาน
    4. คลิก ON เพื่อเริ่มบันทึกเวลา
    5. คลิกที่ "What are you working on?" เพื่อใส่คำอธิบายสั้นๆว่าเราทำอะไร
    6. เริ่มทำงาน
    7. เมื่อพัก หรือ ทำงานเสร็จ ให้คลิก OFF เพื่อหยุดการบันทึกเวลา

    Upwork Desktop App ทำอะไรบ้าง?

    • บันทึกเวลา
    • สุ่มถ่ายภาพหน้าจอขณะทำงานเป็นช่วงๆ (ประมาณชั่วโมงละ 6 ครั้ง)
    • บันทึกจำนวนครั้งที่คลิกเมาส์/เลื่อนเมาส์/กดคีย์บอร์ด

    ทุกอย่างที่ app นี้บันทึกไว้จะถูก Upload ขึ้นไปยังเว็บไซต์ Upwork โดยสามารถดูได้ใน Work Diary อย่างไรก็ตามเพื่อนๆสามารถแก้ไขคำอธิบายสั้นๆได้ และยังสามารถลบภาพได้ด้วย แต่การลบภาพที่ถ่ายหน้าจอนั้นจะเป็นการลบช่วงเวลาการทำงานช่วงดังกล่าวไปด้วย หมายความว่าช่วงเวลาที่ถูกลบไปจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นค่าจ้าง

    จบบทความแล้วเพื่อนๆฟรีแลนเซอร์ทุกคนอย่าลืมนำไปใช้นะคะ บทความหน้าเป็นตอนที่ 7 คุณสมบัติไม่ผ่าน จะหางานได้ยังไง เพื่อนๆสามารถติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ ขอบคุณที่ติดตามบล็อกของมัฟฟินนะคะ

    ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 5 Hourly vs Fixed Price

    หลังจากที่เพื่อนๆได้ศึกษาบทความ"ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal" ไปแล้ว เพื่อนๆอาจจะสงสัยว่า Hourly กับ Fixed Price คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ค่ะ

    คงเป็นเรื่องปกติที่เวลาเรารับทำงานออนไลน์ เรามักจะกังวลว่าเราจะได้รับค่าจ้างจริงหรือเปล่า เราจะโดนโกงไหม ถ้าหากนายจ้างไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ เราจะฟ้องร้องได้ยังไงบ้าง

    เมื่อเรามารับทำงานบน Upwork เราจะสบายใจเรื่องนี้ได้บ้าง เพราะ Upwork มีระบบที่มีการคุ้มครองฝั่งฟรีแลนเซอร์อย่างเราๆด้วยสัญญาในการทำงาน 2 แบบที่ผูกมัดระหว่างนายจ้าง (Client) กับฟรีแลนเซอร์คือ

    1. Hourly

    เป็นการจ้างทำงานรายชั่วโมง สัญญาแบบนี้จะให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อ

    • Client กดจ้าง (Hire) เรา
    • เรา Accept ที่จะทำงานนี้
    • เราใช้ Upwork Desktop App ในการบันทึกเวลาการทำงาน
    • ไม่ใส่เวลาเอง หรือที่เรียกว่า ;Add Manual Time แม้ว่า Client จะอนุญาตให้ทำได้
    • เราทำงานจริง โดยจะเห็นได้จาก Work Diary
    • เราเขียนคำอธิบายสั้นๆและได้ใจความใน Work Diary ว่าทำอะไรบ้าง
    • จำนวนชั่วโมงไม่เกินลิมิตรายสัปดาห์ในสัญญา (ชั่วโมงส่วนเกินก็จะไม่ได้เงิน)
    • ไม่ทำผิดกฎของ Upwork

    การทำงานแบบ Hourly นี้ จำเป็นต้องบันทึกเวลาการทำงานด้วย Upwork Desktop App ซึ่งเมื่อเรากด ON เพื่อเริ่มบันทึกเวลาใน App นี้ ตัวเลขเวลาก็จะไปขึ้นที่หน้า Work Diary ของเราและจะขึ้นที่หน้าของ Client ด้วย ทำให้ Client สามารถเช็คได้ว่าเราทำไปกี่ชั่วโมงแล้ว

    upwork-hourly-1

    Upwork Desktop App นี้จะมีการถ่ายภาพหน้าจอเราเป็นระยะๆ ระหว่างที่เรากำลังทำงาน มีการบันทึกว่ากด keyboard ไปกี่ครั้ง คลิกเมาส์ไปกี่ครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำงานจริงๆ ไม่ได้แค่กดบันทึกเวลาแล้วไปทำอย่างอื่น ถ้าหากจะพักทานข้าว หรือเข้าห้องน้ำ หรือไปทำธุระอย่างอื่น หรือว่าทำงานจนเสร็จแล้ว ก็สามารถกดเปลี่ยนจาก ON เป็น OFF ได้เพื่อให้ App นี้หยุดบันทึกเวลาค่ะ

    เราสามารถใส่เวลาเองได้ในหน้า Work Diary หรือที่เรียกว่า Add Manual Time โดย Client จะเป็นคนเลือกในระบบว่าจะให้เราใส่เวลาเองได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสัญญาแบบ Hourly จะไม่คุ้มครองถ้าหากเกิดปัญหากับ Client ในภายหลัง ดังนั้นมัฟฟินจึงไม่แนะนำให้ใส่เวลาเอง ควรบันทึกเวลาด้วย Upwork Desktop App จะดีกว่าค่ะ เพราะถ้าหากมีปัญหากับ Client เราสามารถขอให้ Upwork ช่วยได้

    upwork-hourly-2

    2. Fixed Price

    เป็นการจ้างทำงานที่ตั้งราคาตายตัว สัญญาแบบนี้ให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อ

    • Client กดจ้าง (Hire) เรา
    • เรา Accept ที่จะทำงานนี้
    • เราทำงานตรงตาม milestone ทุกอย่าง
    • ส่งงานตรงเวลา

    เมื่อ Client กดจ้างเรา จะมีการแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาและจะแจ้งเตือนไปที่อีเมล์ของเราด้วย เราต้องเข้าไปกด Accept เพื่อตกลงที่จะทำงานนี้ แล้วสัญญาจึงจะเริ่มคุ้มครอง จากนั้นเราจึงเริ่มทำงาน

    Client อาจจะกำหนด milestone หลาย milestone ให้เรา เมื่อเราทำงานเสร็จในแต่ละ milestone ก็กด Submit งานที่เสร็จเพื่อส่งให้ Client รีวิว เมื่อ Client โอเคก็จะกดจ่ายเงินมาให้เราค่ะ แต่ถ้า Client ไม่ยอมรับงานของเราทั้งๆที่เราทำงานตรงตาม milestone ทุกอย่าง หรือ Client หายไป ไม่ยอมจ่ายเงิน เราก็สามารถขอให้ Upwork มาช่วยจัดการได้

    มัฟฟินเองก็ยังไม่เคยเจอกรณีที่ Client โกงสักที เคยเจอแต่จ่ายเงินช้า ต้องทวงกันหลายรอบ ถ้ามีโอกาส มัฟฟินจะมาบอกวิธี request ให้ทาง Upwork มาช่วยในกรณีที่เจอเหตุการณ์ Client ไม่ยอมจ่ายเงินนะคะ

    upwork-hourly-3

    อ้อ เกือบลืม สิ่งสำคัญที่อยากจะเตือนเพื่อนๆ *** ห้ามทำงานโดยใช้สัญญาใจ หรือทำงานตามคำขอโดยที่ไม่มีการกดจ้างเราในระบบเด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกนี้จะหลอกให้เราทำงานฟรี และเราจะไม่สามารถขอให้ Upwork มาช่วยได้เลยค่ะ

    การทำงานออนไลน์บน Upwork ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆฟรีแลนเซอร์ทุกคนนะคะ สำหรับบทความถัดไปเป็นเรื่องของการบันทึกเวลาผ่าน Upwork Desktop App เพื่อนๆสามารถติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ

    ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal สมัครทำงานบน Upwork

    เมื่อเราคัดกรองงานและคนจ้าง (Client) จากในบทความที่แล้วในหัวข้อ ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 3 งานดี คนจ้างเด่น เน้นสบายใจได้แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้อง "Submit a Proposal" กันเสียที

    การ Submit a Proposal ก็คือการยื่นใบสมัครนั่นเองค่ะ เมื่อเรายื่นใบสมัครแล้วเราก็จะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกของ Client เพราะยังมีคู่แข่งที่สมัครงานเดียวกับเราอีก ดังนั้นถ้าเราเขียนแนะนำตัวได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้ทำงานชิ้นนั้น จะว่าไปก็เหมือนกับการสมัครงานเลยเนอะ

    วิธีการสมัครทำงานบน Upwork

    จากตัวอย่างในภาพข้างล่าง ฝั่งขวามือ จะเห็นว่าในการสมัครนี้เราจะต้องใช้ 2 Connects การสมัครแต่ละงานอาจใช้ Connects ไม่เท่ากัน โดยปกติจะใช้ตั้งแต่ 1-5 Connects

    Connects คืออะไร?

    Connects คือ คะแนนหรือแต้มแบบหนึ่ง ซึ่งเราจะได้เป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 60 แต้ม (หรือ 60 Connects) เอาไว้ใช้ในการสมัครทำงานบน Upwork ถ้าหากอยากจะได้มากกว่า 60 Connects ก็ต้อง Upgrade เป็นสมาชิกแบบ Freelancer Plus ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10 เหรียญ โดยเราจะได้ 70 Connects ถ้าใช้ไม่หมดก็ทบไปเดือนหน้าได้ แล้วก็ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกเช่น ซื้อ Connects เพิ่มได้ ดูราคาประมูลโปรเจคของคู่แข่งได้ เป็นต้น

    upwork-proposal-1

    จริงๆแล้วมัฟฟินไม่แนะนำให้เพื่อนๆเสียเงินในส่วนนี้ เพราะมัฟฟินคิดว่าการเป็นสมาชิกแบบธรรมดาก็เพียงพอที่จะสร้างรายได้บน Upwork แล้ว แต่ถ้าใครคิดว่าการจ่ายเงินเดือนละ 10 เหรียญนั้นคุ้มค่าก็สามารถ Upgrade ได้โดยเข้าไปที่ Setting >> Membership & Connects >> View or edit membership plan ค่ะ

    upwork-connects

    มาต่อเรื่องการยื่นใบสมัครค่ะ เมื่อเราตัดสินใจที่จะสมัครทำงานนี้แล้ว ก็คลิกยื่นใบสมัครได้เลยที่ปุ่ม "Submit a Proposal" จากนั้นเราก็จะเจอหน้าจอแบบภาพข้างล่างนี้ค่ะ

    เราจะต้องเสนอราคาค่าแรงเรา (หรือประมูลราคาของโปรเจคนี้นั่นเอง) โดยปกติจะตั้งราคาไม่เกินงบ (Budget) ของ Client แต่ถ้าในรายละเอียดที่ Client โพสท์นั้นระบุว่าเขาตั้งงบคร่าวๆ ซึ่งต่ำมากๆ เช่น 5$ และอนุญาตให้ฟรีแลนเซอร์สามารถบอกราคาค่าแรงไปได้เลย เราก็สามารถระบุตรงนี้ได้เลยค่ะ

    **Upwork จะหักค่า service fee อีก 20% นะคะ เงินที่เราจะได้จริงคือเงินในช่องที่สาม ซึ่งในที่นี้เป็น 360$ ค่ะ ตรงนี้ระบบจะคำนวณให้เองอัตโนมัติ

    upwork-proposal-2

    จากนั้นเพื่อนๆสามารถเลือกระยะเวลาการส่งงานว่าจะเสร็จภายในประมาณกี่วัน กี่เดือน เลือกตามความเหมาะสมของงานนั้นๆนะคะ

    upwork-proposal-2

    ได้เวลาเขียน Cover Letter แล้ว

    ตรงนี้คือส่วนที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวบ่งบอกว่าเรามีโอกาสได้งานมากน้อยแค่ไหน อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆอย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะ การเขียน Cover Letter ไม่ได้ยากมากมายอะไร มัฟฟินมีตัวอย่างมาให้ดูด้วยค่ะ เพื่อนๆสามารถปรับให้เป็นแบบของตัวเองได้ ตัวอย่างนี้มัฟฟินก็เอาของคนอื่นมาปรับเหมือนกัน ฮ่าๆๆ

    Cover Letter เป็นส่วนของการแนะนำตัว บรรยายสรรพคุณตัวเองค่ะ แต่ต้องทำให้ดูพอดีพองาม ไม่โอเวอร์จนเกินไป ที่สำคัญอย่าลืมเช็คให้ดีว่าใน Cover letter นั้นมี 4 ส่วนต่อไปนี้ครบถ้วน

    • ทักทายอย่างมืออาชีพ เช่น Dear Mr.Tony (ถ้ารู้ชื่อ หรือเคยร่วมงานกันมาก่อน) หรือ Dear Hiring Manager ก็ดูสุภาพดี
    • เข้าประเด็น โดยบอกว่าเราสนใจในงานนี้ และมีความสามารถอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ บรรยายสรรพคุณของเราไปเลยค่ะ
    • โชว์จุดเด่น หาก Client ระบุว่าต้องการคนที่มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง(ที่คุณมี!) คุณควรจะบอกไปด้วยเลยค่ะ อย่าให้พลาด
    • ปิดการขาย บอกว่าคุณพร้อมที่จะทำงานทันทีหรือไม่ จะสามารถทำงานให้ได้สัปดาห์ละกี่ชั่วโมง พร้อมส่งงานเร็วแค่ไหน เป็นต้น

    นอกจากนี้เพื่อนๆก็ยังจะต้องเช็คตัวสะกดให้ถูกต้องด้วยนะคะ เพื่อความเป็นมืออาชีพ และถ้าหาก Client ให้เราตอบคำถามก็ควรตอบให้ครบถ้วน

    ทำไมต้องมีให้ครบทั้ง 4 ส่วน?

    การเขียนให้น่าสนใจและมีรายละเอียดครบถ้วนเป็นการดึงดูดใจ Client ทำให้เราดูเป็นมืออาชีพ น่าเชื่อถือ และมีโอกาสได้รับงานสูงขึ้นค่ะ

    upwork-proposal-3

    สำหรับงานหรือโปรเจคแบบ Fixed Price (ราคาตายตัว) พอเราคลิกปุ่ม Submit แล้วจะขึ้นหน้าจอแบบข้างล่างนี้ เพื่อบอกว่ามีงานในลักษณะนี้มีสัญญาคุ้มครองค่ะ

    เราก็ติ๊ก Yes,I understand แล้วคลิก Continue to Submit ก็เป็นอันเสร็จ (แต่ถ้าเป็นแบบ Hourly (รายชั่วโมง) ก็จะไม่ขึ้นแบบนี้ค่ะ แต่ก็มีสัญญาคุ้มครองเหมือนกัน)

    upwork-proposal-4

    จบขั้นตอนการส่งใบสมัครแล้วค่ะ ตอนนี้ก็รอการตอบกลับจาก Client แต่ถ้าหากเขาไม่ตอบกลับก็ไม่ต้องกังวลค่ะ ยังมีงานอีกหลายงานที่รอเราอยู่ ฉะนั้นในระหว่างนี้เราก็สมัครงานอื่นไปด้วยได้

    ถ้าหากเพื่อนๆจะดู Proposal หรือใบสมัครที่เราส่งไปก็คลิกที่ Proposals บนแถบสีเทาด้านบนค่ะ

    upwork-proposal-5

    สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่ท้อใจเรื่องภาษาอังกฤษ ก็อย่าลืมหาเวลาไปฝึกฝนนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆค่ะ ในบทความต่อไป มาทำความรู้จักกับงานแบบ Hourly กับ Fixed Price กันค่ะ

    ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 3 งานดี คนจ้างเด่น เน้นสบายใจ

    หลังจากที่เราได้เรียนรู้การสร้างโปรไฟล์เบื้องต้นกันไปแล้ว ในบทความนี้มัฟฟินจะมาบอกถึงวิธีการค้นหางานที่เราสนใจ และวิธีเลือก Client (ผู้จ้าง) ที่ดีๆค่ะ

    อันดับแรกหางานที่สนใจก่อน แล้วจากนั้นจึงมาคัดกรองหา Client ดีๆทีหลังค่ะ เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย...

    เมื่อเรา log in เข้ามาแล้วจะเจอหน้าจอแบบนี้

    upwork-search-1

    จะเห็นว่าตรงด้านบนของหน้าจอมีช่อง Search for Jobs ไว้สำหรับให้ค้นหาค่ะ เพื่อนๆสามารถพิมพ์คีย์เวิร์ดลงในช่องนั้นเพื่อค้นหางานหรือโปรเจคที่สนใจได้เลย

    ในตัวอย่างนี้มัฟฟินต้องการทำงานเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมภาษา php จึงใช้คำว่า php ในการค้นหา

    upwork-search-2

    จากนั้นเราจะเห็นผลการค้นหาที่เกี่ยวกับ php ขึ้นมามากมาย เพื่อนๆสามารถกรองหางานเฉพาะที่สนใจจากแถบด้านซ้ายมือได้ โดยเลือกได้ว่าจะกรองเฉพาะงานที่เป็น Hourly (จ่ายค่าแรงเป็นรายชั่วโมง) อย่างเดียว ประสบการณ์ปานกลาง หรือกรอง Client ที่มีประวัติเคยจ้างมาแล้ว 1-9 คน ก็ได้

    เราจะลองเลือกตัวอย่างมาสัก 1 งานเพื่อดูรายละเอียด ในที่นี้เราเลือกลิงค์แรกที่เห็นในภาพค่ะ

    upwork-search-3

    จากรูปด้านล่าง

    - Details เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดของงาน

    - Preferred Qualifications คือคุณสมบัติที่ Client ต้องการ ในที่นี้คือต้องทำงานสำเร็จ 90% เป็นอย่างน้อย

    สำหรับคนที่ไม่ถึง 90% ตรงนี้จะขึ้นเครื่องหมาย ! สีแดง ซึ่งบ่งบอกว่าไม่ควรสมัครงานนี้เพราะถึงแม้จะสมัครไป ใบสมัครก็จะถูกจัดอยู่ในโซนคุณสมบัติไม่ผ่าน ซึ่งอาจจะไม่ถูกอ่านเลย (แต่ก็มี Client บางคนที่ใจดีพิจารณาใบสมัคร และเห็นว่าโปรไฟล์ดีก็อาจจะเลือกให้เราทำงานก็ได้ (ซึ่งมีน้อยมาก))

    การจะทำงานได้อย่างสบายใจนั้น เราต้องมีทั้งงานที่ดีและ Client ที่ดีค่ะ ดังนั้นคราวนี้เราจะมาดูกันว่า Client คนนี้ดีไหม น่าทำงานด้วยไหม โดยดูที่ About the Client ด้านขวามือค่ะ

    วิธีเลือก Client

    • ดูว่า Client ผูกบัญชีกับ Upwork สำหรับจ่ายเงินแล้วหรือยัง โดยดูที่เครื่องหมายถูกค่ะ

    ถ้าขึ้นเครื่องหมาย ? แปลว่ายังไม่ผูกบัญชี

    ถ้าขึ้นเครื่องหมายถูกสีเขียว  แสดงว่าผูกบัญชีแล้ว

    ตรงนี้สำคัญยังไง?...  ก็สำคัญตรงที่มันเป็นตัวบอกว่า เขาจะมีเงินจ่ายให้เราได้ทันทีที่เราทำงานเสร็จ  เราจะได้ไม่ต้องรอเงินนานเกินไปโดยไม่จำเป็น หรือไม่ต้องทำงานฟรี

    จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้ผูกบัตรเครดิตแล้ว พร้อมจ่ายเงินได้ทุกเมื่อค่ะ

    • ดาวของ Client ต้องเกือบ 5 ดาว

    ตรงนี้คือคะแนนรีวิวโดยรวมจากคนที่เคยทำงานร่วมกับ Client คนนี้  ส่วน Feedback ของแต่ละคนที่พูดถึง Client คนนี้ ต้องเลื่อนลงไปดูข้างล่างค่ะ

    จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้มีคะแนนอยู่ที่ 4.94 ดาว โดยมีคนรีวิวทั้งหมด 14 คน

    • เปอร์เซ็นต์การจ้างงานต้องเยอะ

    ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะแปลว่าเมื่อเขาโพสท์หาฟรีแลนเซอร์ ก็จะมีการจ้างงานเกิดขึ้นแทบทุกครั้ง ไม่ใช่มาโพสท์เล่นๆ แล้วให้เราเสียเวลาสมัครโดยที่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่จ้างใครเลย

    จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้มีเปอร์เซ็นต์การจ้างงานอยู่ที่ 75% ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ได้

    • ดูเงินที่จ่ายค่าจ้างไป

    เป็นส่วนที่แสดงว่าเขาจ่ายจริง ไม่ได้ให้เราทำงานให้ฟรีแล้วชิ่งหนีไป

    จากตัวอย่างในภาพจะเห็นได้ว่า Client คนนี้ได้จ่ายเงินค่าจ้างไปแล้วทั้งหมด 6,269 ดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้เป็นค่าจ้างของฟรีแลนเซอร์ทั้งหมด 131 คนค่ะ

    upwork-search-4

    พอเลื่อนลงมาจะเป็นส่วนของ Review และ Feedback ที่ฟรีแลนเซอร์ที่เคยร่วมงานกับ Client คนนี้ให้ไว้ ตรงนี้บอกเราได้พอสมควรเกี่ยวกับ Client ว่าดีหรือไม่ บางคนเขียน Feedback ได้ดุเดือดมาก ถ้าเจอ Feedback ที่ไม่ดีจากหลายๆคน เราก็ควรเลี่ยง ไม่ควรทำงานกับ Client คนนั้น

    นอกจากนี้เรายังประเมินได้อีกด้วยว่า Client คนนี้ให้ Feedback กับ Freelancer แต่ละคนอย่างไรบ้าง เช่น Freelancer ให้ Feedback กับ Client คนนี้ดี ให้คะแนน Review 4-5 ดาว แต่ Client กลับให้ Feedback ไม่ดี คะแนน Review ไม่ดี ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยๆก็น่าคิด แม้ว่าเราจะมองได้ว่า Client อาจมีมาตรฐานสูง แต่ถ้าหากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเพราะเราอาจได้รับ feedback ที่ไม่ดีกลับมาซึ่งส่งผลต่อ profile ของเรา

    สำหรับตัวอย่างนี้ โดยรวมแล้วถือว่า Client คนนี้ดี เราจึงตัดสินใจจะร่วมงานกับเขาค่ะ

    upwork-search-5

    เมื่อเราตัดสินใจจะสมัครทำงานนี้ ขั้นตอนต่อไปก็คือการ "Submit a Proposal" ซึ่งเพื่อนๆสามารถอ่านต่อได้ที่ ทำงานออนไลน์ สร้างรายได้บน Upwork : ตอนที่ 4 Submit a Proposal สมัครทำงานบน Upwork ค่ะ